xs
xsm
sm
md
lg

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานฯ หนุนรัฐเพิ่มค่าจ้างตามทักษะฝีมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานฯ หนุนกระทรวงแรงงานโฟกัสอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงานเพื่อความยั่งยืน แนะเพิ่มหลักสูตรอบรมนายจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัว ชี้รัฐควรตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ไม่ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค. 67 แต่ควรผ่านกลไกไตรภาคีเป็นสำคัญ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 20
เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำทีมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ เข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งและได้หารืออนาคตตลาดแรงงานไทยซึ่งเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานควบคู่ไปกับการขยายตัวของค่าจ้างที่มุ่งเน้นอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงานเพื่อความยั่งยืนของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจไทยอย่างแท้จริง

“ที่ประชุมได้เสนอให้กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จากเดิมที่มีแต่ลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างต้องการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะลูกจ้างให้ดีขึ้น (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) ซึ่งหากนายจ้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่มีทักษะที่จะเปลี่ยนแปลงจะไปพัฒนาลูกจ้างก็คงไม่เกิดประโยชน์” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานจำเป็นต้องนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประกอบการดำเนินธุรกิจ และการบริการให้มากขึ้นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นระบบอัตโนมัติ (AI) เสมอไป หากยังมีในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมงานต่างๆ ให้เร็วและลดต้นทุน เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อการขาย การบริการ อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีการปรับตัวโดยเฉพาะเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องอาศัยทุนซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน

สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังที่มีเป้าหมายจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 67 นั้น จากการหารือกับ รมว.แรงงานนั้นได้เห็นตรงกันว่า ควรปรับขึ้นแต่ควรผ่านความเห็นของกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่จะมีขั้นตอนตั้งแต่การเสนอค่าแรงจากไตรภาคีจังหวัด โดยยึดหลักการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความเป็นอยู่ของลูกจ้างและความสามารถการจ่ายของนายจ้างเป็นสำคัญ

ส่วนประเด็นของแรงงานต่างด้าวนั้น ทางรมว.แรงงานได้ยืนยันจะดูแลและจะมีมาตรการต่ออายุซึ่งทางสภาฯ จึงได้เสนอให้มีการแยกแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิตออกจากกันเนื่องจากแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคเกษตรที่ผ่านมาจะไม่มีความชัดเจนเพราะฤดูเก็บเกี่ยวของภาคเกษตรมีระยะเวลาสั้นๆ ก็จะจบลง แต่เมื่อใช้กฎหมายเดียวกันทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันจึงควรจะแยกเพื่อให้อัตราค่าจ้างต่างกันตามความเหมาะสม

“อุตสาหกรรมไทยเราติดกับดักหยุดใช้แรงงานเข้มข้น เราต้องเปลี่ยนไปสู่การใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นแทนซึ่งต้องพัฒนาด้วยตนเองด้วยจะเล็กน้อยก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะการเติบโตจากรายเล็กไปสู่กลางและใหญ่ ต้องแข่งขันกับรายใหญ่และต่างชาติเสมอ และแน่นอนว่าวันนี้การค้าโลกมุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวในทุกด้าน” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น