OR ย้ำ “พีทีที สเตชั่น”เป็นเพียงส่วนหนึ่งในธุรกิจ ไม่ใช่ทุกอย่างของOR แจงรัฐลดราคาน้ำมัน กดค่าการตลาดต่ำกว่า2บาท/ลิตรกระทบกำไรไม่มาก เหตุมีรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาเสริม วางเป้ากำไรโต 10%
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ( OR ) เปิดเผยว่านโยบายรัฐในการลดค่าครองชีพโดยมีการลดราคาน้ำมันลง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชน ซึ่งมีผลกระทบต่อ ORไม่มากนัก เพราะเราผู้ซื้อมาขายไป โดยพอร์ตขายน้ำมันผ่านสถานีพีทีที สเตชั่น คิดเป็นสัดส่วนของกำไรราว 30 %ของกำไรสุทธิ ในขณะที่ค่าการตลาดก็อยู่ในกรอบของภาครัฐมาโดยตลอด คือไม่เกิน 2 บาท/ลิตร
หากเทียบในสัดส่วนยอดขายในธุรกิจค้าปลีกผ่านสถานีบริการน้ำมัน จะมีสัดส่วนยอดขาย 55 % ของธุรกิจ mobility ที่เหลืออีก 45 % เป็นการค้าน้ำมันอื่นๆ ได้แก่น้ำมันหล่อลื่น,น้ำมันอากาศยาน(JET),น้ำมันเดินเรือ,น้ำมันจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งอุตสาหกรรมและราชการ ,แอลพีจีและผลิตภัณฑ์พิเศษ เช่น ยางมะตอย พบว่ายอดขายกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐและยังเติบโตอยู่
ดังนั้นแนวโน้มผลประกอบการในปี2566 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือมีกำไรเติบโตในภาวะปกติปีละ 10% ซึ่งในไตรมาส 3 นี้บริษัทยังคงรักษากำไรตามทิศทางที่กำหนดไว้
“พีทีที สเตชั่น ไม่ใช่ทุกอย่างของOR แต่เป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจ จึงไม่อยากให้โฟกัสแค่ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเท่านั้น และแม้ว่านโยบายของภาครัฐจะกระทบต่อผลประกอบการของพีทีที สเตชั่นบ้าง แต่ก็ยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทมี4กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย mobility, lifesyle, global และ innovation”
นายดิษทัต กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐกำหนดค่าการตลาดน้ำมันไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรนั้น ที่ผ่านมาค่าการตลาดของORเฉลี่ยอยู่ที่ 1.60-1.70 บาทต่อลิตร ซึ่งอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้
ซึ่งตัวเลขค่าการตลาดที่อ้างอิงในเวปไซต์ ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ที่ดูว่าสูง และแตกต่างจากการคำนวณของผู้ค้าน้ำมัน เนื่องจากมีการอ้างอิงการคำนวนที่แตกต่างกัน โดยของผู้ค้าน้ำมันคำนวณจากต้นทุนจริงที่ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นฯ ด้วยค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm (EURO4 ) แต่ของ สนพ.เป็นการคำนวณจากค่าเฉลี่ยของน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ ที่ไม่มีราคา 50ppm โดยอ้างอิงค่าเฉลี่ยน้ำมัน 500 ppm และ 10 ppm (EURO5) ทำให้ค่าการตลาดของ สนพ.สูงกว่าผู้ค้าน้ำมันราว 1.20-1.30 บาทต่อลิตร เช่น ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของ สนพ.อ้างอิงที่สูงถึง 3.10-3.30 บาทต่อลิตร แต่ในส่วนของผู้ค้าน้ำมันจะอยู่ที่ 1.90-2.00 บาทเท่านั้น แต่ปัญหานี้จะหมดไปเพราะตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ประเทศไทยใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ทำให้ สนพ.และผู้ค้าน้ำมันจะใช้มาตรฐานอ้างอิงเดียวกันที่กำมะถันไม่เกิน 10 ppm
ส่วนกรณีรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปนั้น บริษัทคงต้องดูรายละเอียดว่าภาครัฐจะมีแนวทางเพิ่มเติมอย่างไร เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีนำเข้าน้ำมันเป็นเสรีอยู่แล้วภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานน้ำมันของไทย ซึ่งมีรายละเอียดมาตรฐานที่สูงกว่าหลายประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นด้วย โดยจะเห็นได้ว่า แม้แต่เชลล์ที่มีโรงกลั่นฯในสิงคโปร์ ยังไม่นำเข้า แต่ซื้อจากโรงกลั่นฯในไทย แต่โรงกลั่นฯไทยมีการผลิตน้ำมันกลุ่มเบนซินไม่เพียงพอ ทำให้ORต้องมีการนำเข้าเป็นครั้งคราว พบว่ามีต้นทุนสูงกว่าการซื้อจากโรงกลั่นในประเทศราว 1 บาทต่อลิตร