รฟท.สรุปผลประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชงบอร์ดรฟท.21 ก.ย.จ่อเซ็นสัญญากลุ่มฯPGWR"เปรมกรุ๊ปฯจับมือ”วราพัฒนาทรัพย์”รับผลตอบแทนเพิ่ม 79 ล้านบาท/ปี ปั้นพื้นที่ศูนย์กลางระบบราง ส่วนป้ายโฆษณาและเชิงพาณิชย์สถานีสายสีแดง อาจให้บริษัทลูกพัฒนา
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่ รฟท.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอผลตอบแทน การใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ระยะเวลา 20 ปี โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอ 1 ราย คือ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอทางเทคนิคตามที่กำหนดในทีโออาร์ และล่าสุดได้มีการเจรจาผลตอบแทนได้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เพื่อขออนุมัติให้สิทธิ์ กับ กิจการร่วมลงทุน พี จี ดับบลิว อาร์ (PGWR) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท วราพัฒนาทรัพย์ จำกัด วันที่ 21 ก.ย. 2566 และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
สำหรับพื้นที่ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีจำนวน 47,675 ตารางเมตร ทีโออาร์กำหนดผลตอบแทน 3 ส่วน ได้แก่ 1. ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ 500 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน 2. ค่าส่วนกลาง (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า) 150 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และ 3. บวกผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) โดยจะพิจารณาตัดสิน ที่ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี รายใดเสนอให้รฟท.มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งในการประมูลครั้งนี้ มีเอกชนยื่นข้อเสนอรายเดียวคือ บริษัท เปรม กรุ๊ปฯ โดยเสนอ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี ที่ 79 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ หลังลงนามสัญญา รฟท.จะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ กลุ่มฯ พี จี ดับบลิว อาร์ เป็นเฟส ซึ่งเอกชนจะชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ข้อ 1 และ 2 คำนวนตามจำนวนพื้นที่ที่ได้รับมอบ
ส่วนอีก 3 สัญญา ที่เปิดขายซองประมูล แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ 1. โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พื้นที่จำนวน 2,303 ตารางเมตร 2. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวนพื้นที่ 3,759 ตารางเมตร และ 3. สัญญาโครงการยื่นข้อเสนอเพื่อใช้สิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี จำนวนพื้นที่ 2,080 ตารางเมตร นั้น ขณะนี้อยู่ระหวางการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เช่น ให้บริษัทลูก ของรฟท.ดำเนินการ ซึ่งมี 2 บริษัท คือ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด (รฟฟท.) หรือบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)