จ.สกลนคร แหล่งผลิตมันฝรั่งอันดับ 1 ภาคอีสาน เกษตรกรรวมกลุ่ม ‘แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง’ สร้างรายได้กลุ่มปีละกว่า 10 ล้านบาท
นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตมันฝรั่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร แหล่งผลิตมันฝรั่งอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกเป็นพืชเสริมรายได้จากการทำนาเป็นหลัก จากข้อมูล สศก. ณ เดือนพฤษภาคม 2566 จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง 1,783 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 1,431 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.59) เนื่องจากภาครัฐมีโครงการสนับสนุนการปลูกมันฝรั่งหลังฤดูทำนาปี ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาราคาดี เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูก พื้นที่ปลูกครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ เมือง พังโคน และโคกศรีสุพรรณ ผลผลิตรวม 5,438 ตัน ลดลง จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 5,930 ตัน (ลดลงร้อยละ 9.11) เนื่องจากมีฝนตกในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงมันฝรั่งลงหัวส่งผลให้หัวมันเน่า
จากการลงพื้นที่ของ สศท.3 พบว่ากลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง บ้านโคกก่อง ตําบลโคกก่อง อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแปลงใหญ่มันฝรั่งหนึ่งเดียวในจังหวัดสกลนคร เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันผลิตมันฝรั่งจนประสบผลสำเร็จ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกร 97 ราย พื้นที่ปลูกรวม 574 ไร่ โดยมีนายธาตุ คำสงค์ เป็นประธานแปลงใหญ่ ด้านสถานการณ์การผลิตของกลุ่ม เกษตรกรจะปลูกมันฝรั่งเป็นพืชหลังฤดูการทำนาปี ปีละ 1 รอบ ซึ่งในการปลูกมันฝรั่งเกษตรกรจะใช้หัวพันธุ์ในการเพาะปลูกประมาณ 250-325 กิโลกรัม/ไร่ ราคาหัวพันธุ์อยู่ที่ 26-35 บาท/กิโลกรัม หัวพันธุ์ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ มีระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน นิยมปลูกช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม สำหรับในปี 2566 กลุ่มแปลงใหญ่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 23,590 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 3,090 กิโลกรัม/ไร่/ปี รวมผลผลิตทั้งกลุ่ม 1,774 ตัน/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 41,200 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,610 บาท/ไร่/ปี หากคิดเป็นกำไรของทั้งกลุ่มในการผลิต มันฝรั่งอยู่ที่ 10 ล้านบาท/ปี
สถานการณ์การตลาด กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่องได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่ง โดยทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทมารับผลผลิตทั้งหมดที่ไร่ของเกษตรกร โดยในปี 2566 ราคาประกัน ณ ไร่นา ที่เกษตรกรขายได้ คือ เกษตรกรที่ทำสัญญาและเพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคม 2565 ราคาขายจะอยู่ที่ 14 บาท/กิโลกรัม และเกษตรกรที่ทำสัญญา และเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน ราคาขายจะอยู่ที่ 12.70 บาท/กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตที่ออกในช่วงแรกมีปริมาณน้อย ทำให้ราคาสูงเป็นไปตามกลไกตลาด โดยหลังจากที่บริษัทรับซื้อผลผลิตแล้ว ผลผลิตจะถูกส่งไปยังห้องเย็นและโรงงานแปรรูป ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และพระนครศรีอยุธยา เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบและขนมขบเคี้ยว
ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อความยั่งยืน จากการที่แปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่องเข้าร่วมโครงการกับบริษัท ทำให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา หัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น รวมถึงการกำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตามหลักตลาดนำการผลิต โดยมีโครงการสนับสนุน ได้แก่ การศึกษาการลดต้นทุนปุ๋ยเคมี การศึกษาวิจัยพันธุ์มันฝรั่ง การขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ และยกร่างการเกษตรพันธสัญญาที่ครอบคลุมและราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนครได้ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่ฯ เข้าร่วมโครงการ เห็นได้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนมีการส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่การปลูกจนถึงการตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งเกิดความยั่งยืน
“ในปี 2567 กลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่องตั้งเป้าหมายว่าจะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 600 ไร่ ตามนโยบายบริษัทและความต้องการตลาด อย่างไรก็ตาม ควรมีการเพิ่มองค์ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ดูแลรักษาคุณภาพของผลผลิตให้มีคุณภาพ และควรเฝ้าระวังโรคของมันฝรั่งที่อาจทำลายผลผลิตให้เสียหาย ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคเหี่ยวเขียว โรคเน่า โรคไวรัส และไส้เดือนฝอยรากปมมันฝรั่ง ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง หมู่ 2 บ้านโคกก่อง ตําบลโคกก่อง อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่นายธาตุ คำสงค์ ประธานแปลงใหญ่มันฝรั่งโคกก่อง โทร. 08-6234-3575 หรือติดต่อข้อมูลที่สํานักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร โทร. 0-4273-3482” ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวทิ้งท้าย