xs
xsm
sm
md
lg

TPC ยกเครื่อง พลิกเกมบัตรอีลิท ดึงเงินนอกเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด – จับตา ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (Thailand Privilege Card) พลิกเกมครั้งใหญ่ ส่องกลยุทธ์การปรับรูปแบบบัตรและสิทธิประโยชน์ ดึงดูดเงินนอกเข้าประเทศ จับ 4 กลุ่มตลาดหลัก

ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (Thailand Privilege Card) ผู้ดำเนินโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ ภายใต้การกำกับดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ที่ครบ 20 ปี ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาว ล้มลุกคลุกคลาน มาอย่างโชกโชน
 
ชื่อเดิมจริงๆสมัยก่อนคือ บัตรอีลิทการ์ด หรือที่เราเรียกง่ายๆติดปากว่า บัตรเทวดา
 
ถึงวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปบอย่างมากมาย ทั้งระบบการจัดการ บริหาร การดำเนินการ รูปแบบบัตร สิทธิประโยชน์ รวมถึงทิศทางการดำเนินงาน ที่เปลี่ยนแปลงภายใต้ผู้นำทัพคนใหม่ที่ชื่อว่า “มนาเทศ อันนวัฒน์” ที่เพิ่งรับตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง
 


“ในวาระครบรอบ 20 ปีของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด มีการ รีแบรนด์จาก “Thailand Elite Card” เป็น “Thailand Privilege Card” และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ครั้งใหญ่เพื่อต้อนรับชาวต่างชาติผู้ที่ต้องการย้ายมาพำนักระยะยาวในประเทศไทยและมีความต้องการ Luxury Lifestyles ที่หลากหลาย ให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุดและความสะดวกสบาย ครบครันทั้งสิทธิประโยชน์สนามบินด้านต่างๆ การท่องเที่ยว พักผ่อน สิ่งอำนวยความสะดวก กิจกรรม การลงทุน และอื่นๆ” นายมนาเทศ อันนวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด กล่าว

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ในหลายมิติที่สำคัญ อาทิ การดีไซน์รูปแบบโลโก้ใหม่ ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น การปรับโฉมชุดพนักงานใหม่ โดยภายใต้แบรนด์ DNA “GRACE” ของบริษัทฯ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการโดยคนไทย รวมทั้งสร้างมูลค่าทางธุรกิจนำรายได้เข้าประเทศ และตอกย้ำภาพลักษณ์องค์กรผู้นำระดับสากล
 
พร้อมกับเป้าหมายใหม่ที่น่าท้าทายอย่างยิ่งกับ รายได้ที่ตั้งไว้ที่ 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567

ขณะที่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่ามา สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท มีสมาชิกบัตรรวมกว่า 31,500 คน โดยในปี 2566 มีรายได้ประมาณ 7,500 ล้านบาท มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 11,500 คน เติบโต 210 % จากรายได้ปี 2565 โดยปี 2565 ม่กไร

ที่ผ่านมา ทีพีซี ได้นำเงินส่งให้กับ ททท. แล้วจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวน 500 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จำนวน 200 ล้านบาท


ขณะนี้ ทีพีซี มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ชำระแล้ว 700ล้านบาท มีกระแสเงินสด สำรองอยู่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ถือว่ามาก แต่ก็มิใช่หมายความว่า จะเป็นเงินที่นำมาใช้ลงทุนอย่างง่ายๆ เพราะต้องสำรองไว้ตามระบบของจำนวนสมาชิก และการบริการ

“นโยบายของเราตอนนี้ เราหันมาเน้นที่การาวัดประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ มากกว่าการเน้นที่่ปริมาณหรือจำนวนสมาชิกเป็นหลัก” หัวเรือใหญ่ ทีพีซี กล่าว

ประเด็นสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือ การจัดกลุ่มเป้าหมายใหม่ และการจัดสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ของบัตร ภายใต้แนวคิด “More Choices More Freedom”

“ปัจจุบัน บริษัทฯ เน้นเจาะ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยบ่อยๆ นักลงทุน (Affluent/ Investors), กลุ่มคนทำงานควบคู่ไปกับการพักผ่อนและการท่องเที่ยว (Workcation/Digital Nomads), กลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทย (Expats in Thailand) และผู้สูงอายุวัยเกษียณ (Retirees)”


ทั้งนี้ตลาดหลักๆของ ทีพีซี เน้นตลาดที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย กลุ่มตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป

รวมถึงกลุ่มตลาดใหม่ ที่มีศักยภาพ พร้อมดำเนินการเปิดตลาดในอนาคต เช่น อินเดีย และประเทศในกลุ่ม GCC อาทิ ซาอุดิอาระเบีย ที่จะเป็นเป้าหมายการรุกขยายตลาดต่อไป สำหรับสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ของ Thailand Privilege Card ภายใต้แนวคิด

“More Choices More Freedom” โดยสมาชิกแต่ละประเภทจะได้รับคะแนน (Privilege Points) เพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์และประสบการณ์สุดพิเศษเหนือระดับตามความต้องการ โดยแบ่งบัตรสมาชิกเป็น 4 ประเภท ได้แก่


1. แบบRESERVE อัตราค่าธรรมเนียม 5 ล้านบาท อายุการเป็นสมาชิก 20 ปี++ สำหรับการเข้าออกประเทศไทยระยะยาว และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 5 ปี พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 120 คะแนน เพื่อนำไปใช้แลกสิทธิพิเศษที่เหนือระดับ ทั้งด้านที่พัก การอำนวยความสะดวกการเดินทาง การลงทุน การดูแลสุขภาพและอื่นๆ

บัตรระดับนี้เป็นเพียงประเภทเดียวที่ผู้สมัครต้องได้รับการเชิญเท่านั้น (By invitation only) และจำกัดจำนวนสมาชิกปีละไม่เกิน 100 ท่านเท่านั้น เช่น ระดับผู้นำประเทศ หรือระดับเจ้าสัว เศรษฐี บุคคลสำคัญ เป็นต้น ที่มีความต้องการพิเศษ เนื่องจากต้องการที่จะให้เกิดเอ็กซ์คลูซีฟและการบริการที่ทั่วถึงและดีที่สุด

2. แบบ DIAMOND อัตราค่าธรรมเนียม 2.5 ล้านบาท อายุการเป็นสมาชิก 15 ปี มอบสิทธิพิเศษ ตลอดระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยพร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 55 คะแนน เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

สำหรับ บัตรแบบRESERVE และบัตรแบบ DIAMOND คาดว่าจะมีสัดสส่วนรวมกันประมาณ 5% จากจำนวนบัตรทั้งหมดที่ตั้งไว้

3. แบบPLATINUM อัตราค่าธรรมเนียม 1.5 ล้านบาท อายุการเป็นสมาชิก 10 ปี พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 35 คะแนน เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม
4. แบบGOLD อัตราค่าธรรมเนียม 900,000 บาท อายุการเป็นสมาชิก 5 ปี สำหรับการเข้าออกประเทศไทยระยะสั้น พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 20 คะแนน เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม
ส่วน แบบPLATINUM และ แบบGOLD สัดส่วนผู้ถือบัตรรวมกันน่าจะมีประมาณ 95%


“สมาชิกเดิมก็ยังคงได้รับสิทธิ์ตามที่มีอยู่ของเขาต่อไป หรือจะเข้ามาสู่ระบบใหม่ตามระดับก็ได้ แล้วแต่ที่จะเลือก “ นายมนาเทศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากการออกบัตรใหม่นี้ ซึ่งมี ราคาเริ่มต้นเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากบัตรแบบเดิมที่มีราคาเริ่มต้นของ Elite Easy Access ที่เป็นบัตรเก่ามีราคา 600,000 บาท โดยบริษัทจะเลิกการจำหน่ายบัตรเก่าที่มี 8 แบบทั้งหมดในวันที่ 15 กันยายนนี้

การปรับระดับสิทธิประโยชน์และการใช้พ้อยท์แต้มแลก เนื่องมาจากว่า จากการที่เราสำรวจเก็บข้อมูลมาพบว่า ลูกค้าในทุกระดับทุกกลุ่ม มีจำนวนมากที่เขาไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ครบหรือใช้ได้หมดในแต่ละรอบเงื่อนไข เช่น ตีกอลฟ์ 20 ครั้ง แต่ใช้ไปแค่ 6 ครั้งในรอบนั้น หรือ ใช้บริการรถลีมูซีนไม่ครบตามจำนวนครั้ง เป็นต้น เราจึงไม่อยากให้เขาเสียโอกาสตรงนั้นไปเปล่าๆ เราก็หันมาปรับใหม่ ไม่ต้องไปจำกัดหรือเจาะจงแล่้ว อยู่ที่ลูกค้าผู้ถือบัตรจะทำจะใช้เองดีกว่า โดยใช้พ้อยท์นั้นไปแลกรับบริการดีกว่าที้จะให้สิทธิ์ประโยชน์นั้นหมดไปโดยเปล่าประโยชน์

แนวคิด More Choices More Freedom นำเสนอสิทธิพิเศษแก่ผู้ถือบัตรสมาชิกทุกท่านตามไลฟ์สไตล์ที่สมาชิกชื่นชอบตลอดระยะเวลาพำนักในประเทศไทย ได้แก่ บริการดูแลอำนวยความสะดวกระดับพรีเมียมที่สนามบิน สิทธิพิเศษบริการห้องรับรองพิเศษ ณ สนามบินขาเข้าและขาออก บริการรถลีมูซีนรับ-ส่ง จากสนามบิน รวมถึงผู้ช่วยส่วนตัวบริการสำหรับสมาชิกทั้ง 4 ภาษา ภาษาอังกฤษ เกาหลี จีนกลาง ญี่ปุ่น รวมถึงภาษาอื่นๆ ในอนาคต


นอกจากนี้ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ยังเดินหน้าจับมือพันธมิตรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกในทุกด้าน พร้อมตอบสนองความต้องการแก่สมาชิกในทุกมิติ และสิ่งสำคัญคือการสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกๆ ไลฟ์สไตล์ อาทิ

Stay สิทธิพิเศษการเข้าพัก ในโรงแรมชั้นนำระดับโลก พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ Stay 1 night get 1 more night รวมถึงสิทธิในการอัพเกรดห้องพัก

Travel สิทธิพิเศษด้านเดินทางท่องเที่ยวจากสายการบินชั้นนำ พร้อมบริการผู้ช่วยส่วนตัวและพนักงานต้อนรับ ณ สนามบิน สิทธิพิเศษรถรับ-ส่งสนามบิน และบริการห้องรับรองพิเศษสนามบิน สิทธิพิเศษบริการคนขับรถส่วนตัว, เรือยอร์ชส่วนตัว, Private Jet และรถเช่าส่วนตัว

Leisure สิทธิประโยชน์จากพันธมิตรทั้งจาก ร้านอาหาร เอนเตอร์เทนเมนต์ ช้อปปิ้ง กีฬา อาทิ ส่วนลดร้านค้า, VIP Lounge, บริการ Personal shopping, บริการ Priority viewing ณ ศูนย์การค้าชั้นนำ, Co-working space, บัตรชมภาพยนต์ 1 แถม 1 เป็นต้น


Well-Being สิทธิพิเศษด้านสุขภาพ อาทิ บริการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลชั้นนำ บริการสปา, บริการฟิตเนส Wellness Center ชั้นนำ

Wealth สิทธิพิเศษด้านการลงทุน สิทธิบัตร Wisdom (ตามเงื่อนไข) บริการที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน, การอบรมสัมนา, แพคเกจพิเศษสำหรับประกันสุขภาพและประกันชีวิต

อย่างไรก็ตาม การที่เพิ่มสิทธิประโยชน์และการบริการที่สูงขึ้นกว่าเดิมนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องตามมาด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งนายมนาเทศ กล่าวว่า คาดว่าอย่างน้อยต้นทุนสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 50%

โดย ทีพีซี เองได้ตั้งงบประมาณสำรองไว้มากถึง 550 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการจัดการสิทธิประโยชน์สมาชิกที่่เพิ่มขึ้นกับทางพันธมิตร จากเดิมที่ใช้งบด้านนี้เฉลี่ยอยู่เพียง 200 กว่าล้านบาทต่อปีเท่านั้นเอง
ผลตอบรับในช่วงต้นนี้ก็ถือว่าดีพอควร โดยมีอัตราผู้ที่สนใจสอบถามและสมัครช่วงแรกนี้่กว่า 1,200 ราย จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 800 รายต่อเดือน

ทว่า มีการกลัวกันว่า จะมีกลุ่มพวกทุนสีเทาที่จะแอบแฝงเข้ามาในระบบบัตรทีพีซีนี้หรือไม่นั้น นายมนาเทศ ย้ำว่า เรามีระบบการตรวจสอบอย่างละเอียด ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ตรวจคนเข้าเมือง ในการพิจารณาดูอย่างรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทีพีซี เองตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมอย่างมาก ถึงการเติบโตในปีหน้าไว่้ที่ 10%
ทั้งนี้การเปิดตัวบัตรใหม่ครั้งนี้ ได้มีการจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในนามกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 20 ปี บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของกกล่าวว่าารท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สนับสนุนนโยบายดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืนนั้น เป็นการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูง มีความเคารพในศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น รักษาสิ่งแวดล้อม และ ทรัพยากรธรรมชาติ โดยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีการพำนักนานวันขึ้น หรือการเปิดสิทธิการพำนักอาศัยในประเทศระยะยาวอย่างถูกต้อง โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐ เพื่อสร้างประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา กว่า 15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 384% เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ผลักดันการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ
อย่างเป็นรูปธรรม โดยชูจุดแข็งประเทศไทยแก่เวทีโลก พร้อมพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เอื้ออำนวยครอบคลุมรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง และพลิกโฉมสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมี
ความรับผิดชอบและมีความหมาย โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ผลักดันในเมืองไทยเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มีศักยภาพต่อไป

ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัดและในโอกาสยกระดับเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์และผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ นับเป็นวาระสำคัญในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลก เป็นหนึ่งในตัวแทนคนไทยที่แนะนำชาวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาพำนักอาศัยในประเทศไทยในระยะยาว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภาคท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มีการดำเนินงานอย่างบูรณาการ และเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาพำนัก
ระยะยาวในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติต้องการเดินทางมาพำนักระยะยาว ปราศจากความกังวลจากขั้นตอน การเดินทางเข้าออกด้วยบริการและสิทธิประโยชน์
บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด นับเป็นฟันเฟืองหนึ่งของการท่องเที่ยวคุณภาพ ทำงานสอดรับกับนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมนำเสนอบริการระดับโลก ดูแลสมาชิกชาวต่างชาติกว่า 31,500 คน มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
มียอดจำหน่ายบัตรสมาชิกใหม่จำนวนกว่า 11,500 รายในปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 7,500 ล้านบาท
บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามพันธกิจ เป็นองค์กรที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ชูศักยภาพการบริการที่ยอดเยี่ยมของคนไทยสู่เวทีโลก สร้างประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม
“การปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้มีความทันสมัย พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มอบสิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือบัตรมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่บริษัทฯ มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งด้านงานบริการ แผนงานนโยบาย ด้านรายได้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการปรับภาพลักษณ์”
การเคลื่อนทัพครั้งนี้ของ ทีพีซี ถือเป็นปฐมบทการรุกใหม่อีกครั้ง ที่น่าจับตามอง กับการเปลี่ยนแปลงบัตรและสิทธิประโยชน์จากบัตร ที่หัวเรือใหญ่ ทีพีซีย้ำว่า แทบจะเป็นบัตรสิทธิประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ที่ดีที่สุดมากกว่าที่ประเทศอื่นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น