xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”สั่งแก้ปัญหาทางเท้า เร่งพัฒนา”คูน้ำริมถนนวิภาวดี”เฟส 2 กว่า 24 กม.เสร็จ พ.ค. 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม”เร่งรัดงานก่อสร้าง”โครงการคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต”ระยะ2 งบ 1.6 พันล้านบาทยาว 24.8 กม. คาดเสร็จ พ.ค. 67 สั่งด่วน แก้ปัญหาทางเท้า ช่วงรร.รามาการ์เด้นส์ หลังปชช.ร้องเรียนสัญจรไม่สะดวก

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ครั้งที่ 4/2566 โดยมีกรรมการ ผู้แทนจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง (ทล.) นายพรพรต สุริยนต์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพ) นายมงคล นวลเกลี้ยง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกรุงเทพ นายช่างโครงการ และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพ) จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ระยะที่ 2 ตอนที่ 2 เพื่อดำเนินการแก้ไขตามข้อร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้เส้นทาง หลังไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางสัญจรบนทางเท้าในจุดที่มีการก่อสร้าง ณ บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ


จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้พบว่า งานก่อสร้างมีความล่าช้า และประชาชนผู้ใช้ทางเท้าไม่สะดวกปลอดภัยในการเดินทาง จึงมอบให้ ทล. เร่งรัดการย้ายวัสดุก่อสร้างและแก้ไขปัญหาทางเท้าบริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์โดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัยต่อไป

นอกจากนี้ โครงการฯ ติดปัญหาสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา และบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ทำให้ต้องใช้เครื่องจักรขนาดเล็กเหมาะสมกับพื้นที่และทำงานค่อนข้างลำบาก ขณะนี้ผู้รับจ้างอยู่ระหว่างวางรางระบายน้ำ จากนั้นจะก่อสร้างทางเท้าต่อไป


อย่างไรก็ตาม ทล. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างให้จัดทำทางเท้าชั่วคราว บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในส่วนที่ติดริมถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่ช่วงรอยต่อทางเข้าโรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จนถึงบริเวณสะพานลอย ระยะทางประมาณ 197 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น จากนั้นจะดำเนินการทางเท้าบริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2566 และโครงการฯ จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567

สำหรับแนวทางแก้ไข ทล. และผู้รับจ้างมีการประชุมติดตามความคืบหน้า ทุกเดือน เพื่อเร่งรัดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามสัญญา ซึ่งหากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ทล. จะต้องพิจารณาบทลงโทษต่อไป ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการฯ มีบางพื้นที่ ที่ดำเนินการเสร็จก่อนบริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวติดปัญหาระบบสาธารณูปโภค ในขณะที่พื้นที่อื่นไม่ได้ติดปัญหาจึงดำเนินการได้แล้วเสร็จ


สำหรับโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ระยะที่ 2 ระหว่าง กม. ที่ 5+500 - 30+300 ช่วงแยกดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต - คลองบึงทะเลสาบ ทล.1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทางรวม 24.8 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 1,660.91 ล้านบาท แบ่งดำเนินงาน 3 ตอน ได้แก่

- ตอนที่ 1 ระหว่าง กม. ที่ 5+500 - 10+700 ช่วงแยกดินแดง - ห้าแยกลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 64.063% จากแผนงาน 68.063% ช้ากว่าแผน 4.010% อยู่ระหว่างดำเนินงานตอกเข็ม งานคอนกรีต งานวางระบายน้ำ และงานปูกระเบื้องทางเท้า คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2567

- ตอนที่ 2 ระหว่าง กม. ที่ 10+700 - 28+030 ช่วงห้าแยกลาดพร้าว - อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 17.330 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 72.135% จากแผนงาน 74.428% ช้ากว่าแผน 2.293% อยู่ระหว่างดำเนินงานหล่อเสาเข็ม ตอกเสาเข็ม งานคอนกรีต งานวางรางระบายน้ำ และงานทางเท้า คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2567

- ตอนที่ 3 ระหว่าง กม. ที่ 28+030 - 30+300 ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ - คลองบึงทะเลสาบ ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 2.270 กิโลเมตร มีความคืบหน้า 83.966% จากแผนงาน 85.697% ช้ากว่าแผน 1.731% อยู่ระหว่างดำเนินงานดันท่อลอด งานจมบ่อรับ - บ่อดัน งานก่อสร้างทางเท้า และงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2567


โครงการฯ มีการดำเนินงานประกอบด้วย การปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดริมคูน้ำให้สวยงาม งานปรับปรุงทางเท้า งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งานก่อสร้างทางจักรยานตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตด้านขาเข้า เริ่มจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปยังโรงเรียนหอวัง และเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังผิวจราจรบนถนนพหลโยธินช่วงตั้งแต่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ - ตลาดสี่มุมเมือง - คลองบึงทะเลสาบ จึงก่อสร้างดันท่อลอดระบายน้ำใต้ผิวจราจร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 - 2 เมตร เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากผิวจราจรและชุมชนลงสู่คลองบึงทะเลสาบ 


ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามแนวคูน้ำเพิ่มพื้นที่หน้าตัดการไหลของการระบายน้ำ โดยเฉพาะในบริเวณใกล้กับสถานีสูบน้ำ ช่วยให้การระบายน้ำฝั่งขาเข้าและขาออกระบายได้รวดเร็วมากขึ้น รองรับปริมาณน้ำฝนได้ประมาณ 100 มิลลิเมตร จากที่ปัจจุบันรองรับปริมาณน้ำฝนได้ 60 มิลลิเมตร ลดปัญหาน้ำท่วมขังบนผิวจราจร ทำให้ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้สะดวกและปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น