xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าเร่งส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าเร่งส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก
วันนี้ (21 ส.ค.) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ผ่าน 3 กิจกรรมหลักประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจโดยเน้นการระดมแนวความคิด การทำงานเป็นทีมให้ความรู้เกี่ยวกับ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และ การเป็นมืออาชีพด้านการตลาด การค้า การลงทุน ด้านเทคโนโลยี บัญชี การค้าชายแดนและข้ามแดนรวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเพื่อแข่งขันสู่ตลาดอาเซียน โดยตั้งแต่ปี 2549 - 2566 มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ผ่านการอบรมแล้ว จำนวน 5,477 ราย

ในปี 2566 กรมได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์” จำนวน 4 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 หลักสูตร การเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ด้วย AI จังหวัดนครปฐม มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เข้าร่วมจำนวน 60 คน (เป็นนิติบุคคล จำนวน 44 กิจการ) ครั้งที่ 2 หลักสูตร ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่เน่าเสียง่าย (Introduction to Perishable Cargo Transportation) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ โลจิสติกส์ เข้าร่วมจำนวน 108 คน (เป็นนิติบุคคล จำนวน 71 กิจการ) ครั้งที่ 3 หลักสูตร การยกระดับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ด้วย Service Excellence ผ่านระบบออนไลน์ Zoom มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เข้าร่วมจำนวน 112 คน (เป็นนิติบุคคล จำนวน 93 กิจการ) ครั้งที่ 4 หลักสูตร การจัดการขนส่งสินค้าชายแดนและข้ามแดน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เข้าร่วมจำนวน 60 คน (เป็นนิติบุคคล จำนวน 41 กิจการ)

กิจกรรมที่ 2 เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ โดยให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการใช้เทคโนโลยี ในการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ วิเคราะห์ และการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการออกแบบรายงานพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ ให้มีทักษะในการประมวณผลข้อมูลด้วยเครื่องมือทางดิจิทัล (Microsoft Power BI) ลดต้นทุนในการรวบรวมข้อมูลขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ นำเสนอข้อมูลในรูปแบบ visualization ทำให้เข้าใจถึงข้อมูล และยังทำให้ช่วยผู้บริหารสามารถตัดสินใจการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นหรือกับธุรกิจเดียวกันได้ โดยได้ดำเนินการส่งผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์แล้ว ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 จำนวน 795 ราย

ในปี 2566 กรมได้จัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ส่วนภูมิภาค จำนวน 2 ครั้ง ดำเนินการจัดอบรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้นจำนวน 205 ราย

กิจกรรมที่ 3 ยกระดับความเชื่อมั่นธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ด้วยมาตรฐานสากล สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพ กรมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำ เชิงลึก เพื่อให้ธุรกิจได้รับการรับรองมาตรฐานสากล (ISO 9001) ตั้งแต่ปี 2553 - 2566 มีธุรกิจที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 9001 แล้ว จำนวน 715 ราย โดยดำเนินการคือ กิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพและขั้นตอนในการพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO 9001 จำนวนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้ง จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดสมุทรปราการ

ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำเชิงปฏิบัติการในเชิงลึก (Coaching) ณ สถานประกอบการ จำนวน 2 manday โดยที่ปรึกษาจะให้คำปรึกษาแนะนำเชิงปฏิบัติการ ณ สถานประกอบการ พร้อมให้คำแนะนำการแก้ไขปัญหา อุปสรรค เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงระบบการบริหารจัดการตามแนวทางมาตรฐาน ISO 9001 (ด้านระบบบริหารงานคุณภาพ) และการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจ จำนวน 36 ธุรกิจ การตรวจประเมินระบบมาตรฐานสากล ISO 9001:2015 จากหน่วยงานรับรองระบบ (Certified Body: CB) ณ สถานประกอบการ จำนวน 1 man day ในเขตกรุงเทพมหานคร

“ในปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สามารถบริการได้อย่างรวดเร็ว และ สร้างความเชื่อมั่นรองรับความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้การมีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากลจะทำให้ธุรกิจนี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป” นายทศพลกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น