บอร์ด รฟท.เคาะแล้วย้ายโรงงานมักกะสันไป "เขาชีจรรย์" จ.ชลบุรี ประเมินทำเล ขนาดพื้นที่เหมาะสมคุ้มค่า ผุดโรงงานและพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ เร่งออกแบบรายละเอียด คาดลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท เคลียร์พื้นที่ "มักกะสัน" พลิกทำเลทองกลางเมือง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.วันที่ 17 ส.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) การคัดเลือกพื้นที่โรงงานมักกะสันแห่งใหม่ไปยังบริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังพิจารณาอย่างรอบด้านและเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมทั้งขนาดพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้งที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้ รฟท.ในอนาคต และมีระยะทางจากกรุงเทพฯ ที่เหมาะสมในการขนย้าย และการทำงานของ รฟท.และกาาเดินทางของพนักงานรถไฟในอนาคต ที่จะส่งผลต่อค่าใช้จ่าย ต้นทุนโดยรวมของ รฟท.
สำหรับบริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์มีพื้นที่ประมาณ 454 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับพื้นที่โรงงานมักกะสัน (ที่ดินมักกะสันมีพื้นที่รวม 745 ไร่ ใช้ประโยชน์เป็นโรงงานมักกะสัน 324 ไร่) และมีเส้นทางรถไฟตรงกลาง อนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงผ่านด้วย จึงเห็นแนวทางและโอกาสในการจะพัฒนาฝั่งหนึ่งเป็นโรงงานรถไฟ ส่วนพื้นที่อีกฝั่ง พัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นที่ดินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
การย้ายโรงงานมักกะสันออกไปนั้นมีหลักการคืออยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายในรัศมี 200 กม. และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200 ไร่ ซึ่งที่ปรึกษาได้นำเสนอ ผลการศึกษาพื้นที่ 2 แห่ง คือ 1. พื้นที่บริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 454 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา มูลค่าลงทุนประมาณ 8,234.22 ล้านบาท ได้คะแนนเหมาะสมมากที่สุด 2. พื้นที่บริเวณสถานีสุพรรณบุรี ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มีพื้นที่ประมาณ 240 ไร่ ได้คะแนนลำดับสอง ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชน มีมูลค่าลงทุนประมาณ 8,129.72 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้บอร์ด รฟท.ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาว่าให้เปรียบเทียบกับจุดอื่นๆ เช่น บริเวณสถานีช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และบริเวณสถานีรถไฟลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ทั้งในมิติด้านความคุ้มค่าในการลงทุน มิติด้านการขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการงานของ รฟท.ในอนาคต และมิติความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อความรอบคอบที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า แผนย้ายโรงงานมักกะสันนั้น ในการศึกษาคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ซึ่งล่าสุด หลังบอร์ด รฟท.เห็นชอบพื้นที่ที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่แล้ว ที่ปรึกษาจะมีการออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) ของโรงงานแห่งใหม่ รวมถึงมูลค่าโครงการที่ชัดเจน ระยะเวลาการก่อสร้าง รูปแบบลงทุนและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี
สำหรับที่ดินพัฒนามักกะสันจะมีพื้นที่รวม 745 ไร่ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์เป็นโรงงานมักกะสัน 324 ไร่ หลังย้ายโรงงานออกไป รฟท.ได้ศึกษาแผนที่จะนำพื้นที่มา โดยแบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ แปลง A จำนวน 139.82 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม พัฒนาเป็น City Air Terminal ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม-สัมมนา อาคารสำนักงาน เป็นต้น
แปลง B จำนวน 117.31 ไร่ เป็นธุรกิจสำนักงาน อาคารสำนักงาน ธนาคาร ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ อุตสาหกรรมของรัฐ และศูนย์แสดงสินค้า
แปลง C จำนวน 151.40 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยและสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลระดับนานาชาติ (Exhibition Center) โรงเรียนนานาชาติ เวิลด์คัพคิตเชนมาร์ท (ตลาดอาหารระดับโลก) และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
และแปลง D จำนวน 88.58 ไร่ จะเป็นพิพิธภัณฑ์ รฟท. โรงแรม เป็นต้น