โจทย์ท้าทายใหม่ที่ปตท.มอบหมายให้บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า โดยเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 12,000เมกะวัตต์ (MW)หรือ 12 กิกะวัตต์(GW) เป็น15 กิกะวัตต์ในปี2573 ภายหลังจากGPSC ตัดสินใจร่วมทุนกับกลุ่มอวาด้า(Avaada Group) ประเทศอินเดีย ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี2564 GPSC ส่งบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% ได้ร่วมมือกับพันธมิตรบริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด (AVPL) เพื่อลงทุนถือหุ้น 42.93%ในบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (AEPL)บริษัทในกลุ่มอวาด้า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย ซึ่งช่วงเวลานั้น AEPLมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพียง 1.5 กิกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในมือรวม 7 กิกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตแล้ว 4 กิกะวัตต์ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและประมูลได้รวม 3 กิกะวัตต์ ซึ่งAEPLยังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมชูอินเดียเป็นบ้านหลังที่สอง
ขณะเดียวกัน GPSCตัดสินใจพับแผนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าสีเขียวในประเทศเวียดนาม หลังจากศึกษาการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าหลายโครงการ พบว่ามีความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ความไม่ชัดเจนด้านนโยบายรัฐ รูปแบบการประมูล และที่สำคัญไม่มีพันธมิตรร่วมทุนที่เหมาะสม เป็นต้น ทำให้ GPSCต้องมองหาประเทศอื่นที่มีศักยภาพเข้ามาแทนที่เวียดนามไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลียและจีน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการ
เมื่อปักหมุดลงทุนพลังงานสะอาดในอินเดียมาเป็นเวลาร่วม2ปีและเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น GPSC จึงนำคณะสื่อมวลชนบินลัดฟ้า มาเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พิฆเนร์ (Bukaner Solar Power Project ) ซึ่งเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบนำร่องที่ใหญ่ที่สุดในโลกของAvaada ขนาดกำลังการผลิต 1,246 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 4,100เอเคอร์หรือ 1.2 หมื่นไร่ ที่เมืองพิฆเนร์ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นเนินทราย ขาดแคลนน้ำ ทำให้การเพาะปลูกทำได้ยาก แต่กลับสร้างมูลค่าพื้นที่ในการทำโครงการโซลาร์ ฟาร์มขนาดใหญ่ โดยAvaada มีจุดแข็งด้านทีมจัดหารวบรวมพื้นที่ ออกแบบทางด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอง ทำให้โครงการมีมาร์จินสูง ล่าสุดบริษัทมีแผนจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวอีก 2กิกะวัตต์รวมเป็น3.2กิกะวัตต์
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)(GPSC) กล่าวว่า ขณะนี้อินเดียเป็นประเทศที่เนื้อหอม นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมีนโยบายชัดเจนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1,400ล้านคนแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแล้ว แม้ว่าGPSCไม่ใช่บริษัทไทยรายแรกๆที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย แต่เป็นบริษัทไทยรายแรกที่เข้ามาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
เหตุผลที่ทำให้GPSC ตัดสินใจเลือกลงทุนที่ประเทศอินเดียนั้น นางรสยา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีบริษัทไทยหลายรายที่เห็นโอกาสและตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจในอินเดีย แต่สุดท้ายก็ถอนตัวออกจากประเทศนี้ไปก็มีไม่น้อย ดังนั้น สิ่งสำคัญในการลงทุนที่อินเดีย นอกเหนือจากตลาดที่ใหญ่มีศักยภาพเติบโตแล้ว นั่นคือต้องมีพันธมิตรท้องถิ่นที่ดี เราโชคดีที่มีพันธมิตรอย่างกลุ่มอวาด้า ที่เป็นหนึ่งผู้เล่นด้านพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในอินเดีย
กอปรกับรัฐบาลอินเดียภายใต้การบริหารของนาย Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีนโยบายเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด โดยวางเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ซึ่งส่วนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 280 กิกะวัตต์ และตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 50% ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2613 รวมถึงยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตกรีน ไฮโดรเจนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากนโยบายดังกล่าวนี้ ทำให้อินเดียเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปีละ 50 กิกะวัตต์จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว 176 กิกะวัตต์ ซึ่งต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้นต่ำกว่าค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศอินเดีย ดังนั้น อินเดียมีเป้าหมายชัดเจนที่จะยุติโรงไฟฟ้าจากถ่านหินในอนาคต แล้วหันมาเน้นการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แทน ปัจจุบันอินเดียมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 8-10โรงที่เดินเครื่องมาแล้วกว่า30ปีซึ่งจะเป็นทางออกในการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากกว่าพลังงานหมุนเวียน
ยื่นประมูลโรงพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม
นางรสยา กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 4 เดือนของปีนี้ อินเดียจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก30กิกะวัตต์ มั่นใจว่าAEPLจะสามารถชนะประมูลโครงการเพิ่มเติมได้ หลังจากช่วงครึ่งแรกปี2566 ได้ชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 2.2 กิกะวัตต์จากที่เปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนรวม 20 กิกะวัตต์
ในปีที่ผ่านมา AEPL มีมาร์เก็ตแชร์จากประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนเฉลี่ยปีละ 15% ดังนั้นปีนี้ถ้ารักษามาร์เก็ตแชร์นี้ได้ เท่ากับว่าAEPLจะชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนราว 7.5 กิกะวัตต์จากการเปิดประมูล 50 กิกะวัตต์ ทำให้GPSCมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นราว3 กิกะวัตต์ หรือราว 3,000เมกะวัตต์จากปัจจุบันGPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์คิดเป็น45%ของกำลังการผลิตรวม 8,060เมกะวัตต์
จากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการGPSC เมื่อเร็วๆนี้ได้อนุมัติการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในบริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) ให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) และอนุมัติการชำระหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 42.93% ใน AEPL ซึ่งเป็นการลงทุนผ่าน บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) บริษัทย่อย ซึ่งการลงทุนดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ารวม 19,167 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 8,625 ล้านบาท โดยจะทยอยชำระเงินเพิ่มทุนตามความจำเป็นในการลงทุน โดยจะชำระเงินก้อนแรกจำนวน 3,892 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2566
การเข้าลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน AEPL ในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาโอกาสเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานรูปแบบผสมผสานระบบกักเก็บพลังงาน ตามเป้าหมายการเติบโตของAEPLที่ 11 กิกะวัตต์ภายในปี 2569 สอดคล้องแนวโน้มการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดของภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 รวมทั้งการลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯในการขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตภายในปี 2573 และก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ของปตท.ที่ต้องการรุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นโดยมีGPSCเป็นหัวหอกในการทำธุรกิจนี้ ซึ่งเดิมตั้งเป้าหมายในปี2573 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 20 กิกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 12 กิกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯ 8 กิกะวัตต์ ล่าสุดได้เตรียมประกาศเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 15 กิกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯเหลือ 5 กิกะวัตต์ ทำให้GPSC ต้องแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยมีข้อจำกัด
AEPLชิมลางประมูลโรงไฟฟ้าพลังลม
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ทางAEPLให้ความสนใจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังงานรูปแบบผสมผสานระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ เนื่องจากอินเดียมีนโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้24ชั่วโมง ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์มีข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าช่วงมีแดดเว้นแต่มีระบบกักเก็บพลังงาน(แบตเตอรี่)สำรองไฟไว้ใช้ในช่วงกลางคืน แต่ราคาแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ยังมีราคาสูงกระทบต้นทุนราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนับวันมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าแม้ว่าแรงลมไม่สูงมากก็ตาม
ดังนั้น AEPL จึงได้มีการยื่นประมูลโครงการพลังงานลมในช่วงในครึ่งแรกปี2566 ที่ 100 เมกะวัตต์ ผ่านการคัดเลือกมา 40เมกะวัตต์ แต่สุดท้ายเราตัดสินใจไม่ทำ เพราะขนาดโครงการที่เล็กเกินไปไม่คุ้มการลงทุน แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์เพื่อใช้ในการยื่นประมูลรอบถัดไป เนื่องจากการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียน 50กิกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 40 กิกะวัตต์ พลังงานลม10กิกะวัตต์ และในอนาคตสัดส่วนเปิดประมูลพลังงานลมจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น
จ่อร่วมทุนผลิตแผงโซลาร์เซลล์กับAvaada Group
นอกจากนี้ ทางAvaada Group มีแผนลงทุนผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เนื่องจากอินเดียปรับขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจากจีนสูงถึง40% รวมทั้งยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในการกีดกันการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากจีน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ดังนั้นหากAvaada ไม่มีการลงทุนผลิตแผงโซลาร์เซลล์เอง ก็ต้องหันมาซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่งได้ อีกทั้งด้วยศักยภาพในการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้โครงการนี้มีความคุ้มค่าการลงทุน อย่างไรก็ดี GPSCอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวหรือไม่ เพราะบริษัทไม่ต้องการหยุดแค่ธุรกิจไฟฟ้า แต่ต้องการขยาย Supply Chain เพื่อสร้างรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปี2566
อินเดียมีเป้าหมายเป็นผู้นำการผลิตกรีน ไฮโดรเจนและ/หรือกรีน แอมโมเนีย โดยพยายามสร้างดีมานด์ในประเทศ อาทิ ออกนโยบายบังคับให้อุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฮโดรเจนและ/หรือแอมโมเนียอยู่แล้วต้องผสมกรีน ไฮโดรเจน/แอมโมเนีย สัดส่วน10% แม้ว่านโยบายดังกล่าวเลื่อนการบังคับใช้มา 1ปีแล้ว แต่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่างคงเฝ้าติดตามใกล้ชิดเพื่อชิงความได้เปรียบทันทีเมื่อนโยบายมีการบังคับใช้จริง
กลุ่มปตท.สนใจธุรกิจกรีน ไฮโดรเจน-ยาในอินเดีย
เมื่อเร็วๆนี้ Brookfield กองทุนจากแคนาดา ได้ลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในAvaada เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจกรีน ไฮโดรเจน/แอมโมเนีย ซึ่งเป็นพลังงานอนาคต(Future Energy)ที่กลุ่มปตท.กำลังให้ความสนใจและอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้ามาร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักของกรีน ไฮโดรเจน/แอมโมเนียอยู่ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ขณะที่การตั้งโรงงานผลิตกรีน ไฮโดรเจน/แอมโมเนียในอินเดีย มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับไทย เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่อินเดียอยู่ที่ 1.5บาท/หน่วยต่ำกว่าค่าไฟฟ้าของไทยถึง 3เท่า รวมทั้งภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีการตั้งโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน รวมถึงออสเตรเลีย ขณะเดียวกันตลาดอินเดียมีขนาดใหญ่กว่าไทยมาก โดยอุตสหกรรมที่มีการใช้ไฮโดรเจน/แอมโมเนียมีทั้ง ปุ๋ย เหล็ก ซิตี้แก๊ส และปิโตรเคมี หากรัฐบาลอินเดียประกาศการบังคับใช้กรีน ไฮโดรเจน/แอมโมเนีย เชื่อว่าจะกระตุ้นดีมานด์ในตลาดเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากธุรกิจกรีน ไฮโดรเจน/แอมโมเนียแล้ว ทางกลุ่มปตท. ยังสนใจในธุรกิจปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และยาในอินเดีย ซึ่งGPSCในฐานะ Country Leader ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ซัพพอร์ตข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจต่างๆให้ โดยมีทีมงานอยู่ที่ประเทศอินเดียแล้ว 2คน อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในอินเดียไม่ง่าย มีแข่งขันด้านราคาสูง เพราะผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าคำนึงเรื่องราคาเป็นหลัก
ครึ่งปีแรกนี้ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนAEPL 273ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการGPSC ไตรมาส2/2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 309 ล้านบาท ลดลง 375 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ลดลง จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าไซยะบุรี( XPCL )ลดลง 477 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงและส่วนแบ่งผลขาดทุนจากCFXDเพิ่มขึ้น 132ล้านบาทจากการหยุดเดินเครื่องกังหันลมเพื่อเชื่อมต่อและทดสอบระบบ อีกทั้งรายได้อื่นลดลง 276 ล้านบาท สาเหตุหลักจากในไตรมาสที่ 2/ 2565 บริ ษัทฯ รับรู้กำไร (ก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) จากการขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ ให้แก่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด จำนวน 388 ล้านบาท โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment) สูงขึ้น และผลดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการปรับตัวสูงขึ้นของค่า Ft ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ GPSC รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนจากAEPLตามสัดส่วนการถือหุ้นในไตรมาส2/2566 อยู่ที่145ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 154 ล้านบาท และในช่วง 6เดือนแรกปี2566 รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในAEPL อยู่ที่ 273 ล้านบาทโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 155 ล้านบาท
Mr. Vineet Mittal ประธานกลุ่ม อวาด้า กล่าวว่า อินเดียเคยเป็นประเทศที่ขาดแคลนไฟฟ้า แต่ปัจจุบันการขาดแคลนไฟฟ้าได้ลดลงมาอยู่ที่ 4%ในปีนี้ จากเดิมที่เคยสูงถึง 12.7% และเชื่อการขาดแคลนไฟฟ้าจะลดลงเรื่อยๆจนเหลือศูนย์ โดยอินเดียได้มีการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็งเกี่ยวกับการซื้อ ขนส่งและการจำหน่ายไฟฟ้า กอปรกับการเปิดให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ได้สูง100% ผ่านการลงทุนช่องทางอัตโนมัติ ทำให้GDP อินเดียจะมีอัตราการเติบโต6.1%ในปีงบประมาณ2566 และปีถัดไปเพิ่มเป็น 6.8% ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจอินเดียมีมูลค่าสูงถึง 5ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปีงบประมาณ2569 และเพิ่มเป็น 7ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573
เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตขึ้น ทำให้ความต้องการพลังงานสะอาดก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าAEPLจะมี EBITDA ราว240ล้านเหรียญสหรัฐในปี2567 และจะเพิ่มเป็น 500กว่าล้านเหรียญสหรัฐในปี2569 หลังจากAEPLมีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นไปแตะ 11 กิกะวัตต์ ทำให้ในอนาคตGPSC รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในAEPL เพิ่มขึ้น