“อธิรัฐ” สั่งชะลอขึ้นค่าผ่านทางด่วน "บูรพาวิถี-ฉลองรัช" และบางพลี-สุขสวัสดิ์ ออกไป 6 เดือน ลดภาระประชาชน ยืดไปมีผล 1 มี.ค. 67 หลังบอร์ด กทพ.เจรจากองทุนฯ TFF พร้อมเห็นชอบประกาศกระทรวงฯ เสนอเลขาฯ ครม.ตามขั้นตอน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ พ.ศ. 2566 จำนวน 2 ฉบับ
มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย. 2566 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตามขั้นตอนต่อไปแล้ว
นายอธิรัฐมีนโยบายให้ กทพ.ชะลอการปรับออกไปอีก 6 เดือน หรือไปมีผลวันที่ 1 มี.ค. 2567 โดย กทพ.จะจัดทำประชาสัมพันธ์เรื่องการให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ทางต่อไป
ทั้งนี้ การปรับค่าผ่านทางพิเศษ 2 สายดังกล่าว ประกอบด้วย ฉลองรัช (สายรามอินทรา-อาจณรงค์ และสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกฯ) ระยะทาง 28.2 กม. และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55 กม.นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) โดยเริ่มพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทางวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการเพื่อให้อัตราค่าผ่านทางที่ปรับใหม่มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ก.ย. 2566
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการปรับค่าผ่านทางตามสัญญาโอนและรับสิทธิในรายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี (RTA) รวมถึงพิจารณาปรับค่าผ่านทาง ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งครบรอบ 5 ปี โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) จะปรับขึ้นประมาณ 10% หรือประมาณ
5 บาท จากราคาปัจจุบัน ทั้งนี้ ขึ้นกับประเภทรถโดยให้มีผลวันที่ 1 ก.ย. 2566 และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณา
ที่ประชุมบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 พิจารณารับทราบการดำเนินการตามสัญญา RTA โดยมอบหมายให้นางไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล และผู้ว่าฯ กทพ. เจรจาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการกองทุน TFF เพื่อพิจารณาแนวทางการให้ส่วนลด สำหรับผู้ใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETCS) หรือบัตร Easy Pass โดยยังคงจ่ายค่าผ่านทางอัตราเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน (1 ก.ย. 66-29 ก.พ. 67) และจะปรับค่าผ่านทางเฉพาะผู้ที่ชำระด้วยเงินสด เพื่อช่วยลดภาระด้านค่าครองชีพให้ประชาชน ส่วนทางพิเศษสาย บางพลี-สุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นทางด่วนที่กทพ.บริหารจัดการเอง ชะลอปรับค่าผ่านทางออกไป 6 เดือน (1 ก.ย. 66-29 ก.พ. 67) โดยถือเป็นงานด้านสังคม (CSR) ขององค์กร
ต่อมาวันที่ 25 ก.ค. 2566 ที่ประชุมบอร์ดกทพ.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ และโครงการให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช เฉพาะด่านฯ พระราม 9-1, ด่านฯ พระราม 9-2 และด่านฯ ลาดพร้าว จำนวน 10 บาทต่อเที่ยวสำหรับรถทุกประเภทต่อไป และเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเสนอ รมว.คมนาคมลงนามในประกาศตามขั้นตอน
รายงานข่าวแจ้งว่า การชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวเป็นไปตามสัญญา RTA กับกองทุน TFF ในข้อ 4.4 การปรับค่าผ่านทางที่ระบุว่า เมื่อมีการพิจารณาตามข้อ 4.4(ก) แล้วปรากฏว่าจะต้องปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น ทาง กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่ระบุไว้ในกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เพื่อให้มีผลบังคับภายในวันที่ 1 ก.ย.ของปีเดียวกับ ที่ได้มีการพิจารณา ทั้งนี้ หาก กทพ.ได้ดำเนินการต่างๆ ครบถ้วนแล้ว แต่ไม่มีการปรับอัตราค่าผ่านทางหรือไม่สามารถปรับอัตราค่าผ่านทางได้เต็มจำนวนที่คำนวณได้หรือมีการปรับอัตราค่าผ่านทางล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่า กทพ.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ครบถ้วนแล้ว และไม่ถือว่าเป็นเหตุให้ กทพ.ผิดข้อสัญญาหรือทำให้กองทุนฯ มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายค่าชดเชยหรือเงินเพิ่มใดๆ จาก กทพ.
สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่จะมีผลในวันที่ 1 มี.ค. 2567 ทางพิเศษฉลองรัช รถ 4 ล้อ ปรับจาก 40 บาท เป็น 45 บาท, รถ 6-10 ล้อ จาก 60 บาท เป็น 65 บาท, รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 80 บาท เป็น 90 บาท
ทางพิเศษบูรพาวิถี (จากบางนาไปชลบุรี) รถ 4 ล้อ ปรับจาก 70 บาท เป็น 80 บาท, รถ 6-10 ล้อ จาก 145 บาท เป็น 165 บาท, รถมากกว่า10 ล้อ จาก 220 บาท เป็น 245 บาท