xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเร่งทบทวนโมเดลลงทุน MRO อู่ตะเภา เลขาฯ EEC ชี้ต่างชาติสนใจ-หวั่นช้าทำเสียโอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทยดัน “ศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภา” เตรียมจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนลงทุนสรุปใน 3-4 เดือน เปิดโมเดลร่วมทุนพันธมิตร หรือ EEC ลงทุนโครงสร้างแล้วเช่าดำเนินการ เลขาฯ EEC ชี้ต่างชาติสนใจ เร่งสรุปในปีนี้ หวั่นช้าประเทศเสียโอกาส

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ว่า บริษัทฯ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงแผนการหาผู้ร่วมทุนใหม่เพื่อเร่งดำเนินการ และสิทธิในการเข้าลงทุนของบริษัทฯ ซึ่งการลงทุน MRO อู่ตะเภา อยู่ในแผนฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยขณะนี้บริษัทฯ เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาแผนการลงทุนแผนธุรกิจ (Business Model ) โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน และนำเสนอขอความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ต่อไป


รูปแบบในการลงทุนมีหลากหลาย ได้แก่ 1. การบินไทยลงทุนเอง 2. การบินไทยจับมือร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ 3. ทาง EEC เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการบินไทยเช่าดำเนินงาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่การศึกษาจะเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด ส่วนพันธมิตรเดิม อย่างแอร์บัส ไม่ได้ปิดโอกาสในการกลับมาหารือเพื่อร่วมทุนอีกครั้ง ซึ่งการบินไทยมีการหารือกับนักลงทุนหลายรายที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนใน MRO ที่อู่ตะเภา

เบื้องต้นการเลือกผู้ร่วมทุนนั้น พาร์ตเนอร์จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความสามารถในส่วนที่การบินไทยไม่มีประสบการณ์มาก่อน ทั้งการบริหารแบบมืออาชีพในด้าน MRO เพราะโครงการนี้ เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดเครื่องบินจากภายนอกมากขึ้น เอกชนต้องมีฐานธุรกิจเพื่อเป็นโอกาสทำธุรกิจที่ง่ายและยั่งยืน และมีกำไรมากขึ้น

“ในด้านเงินลงทุน บริษัทฯ ไม่มีปัญหา แต่จะเป็นรูปแบบใดขอดูผลศึกษาก่อน โดย ไม่ว่าการบินไทยลงทุนเอง หรืออีอีซีลงทุนโครงสร้างฯ แนวทางที่ดีที่สุดคือต้องมีการบินไทยร่วมอยู่ใน MRO ด้วยเพราะการบินไทยมีเครื่องบินหลายสิบลำที่พร้อมเป็นฐานลูกค้าของ MRO และยืนยันว่า การบินไทยยังต้องการเดินหน้าโดยเร็ว เพราะว่าหากยิ่งช้าโอกาสทางธุรกิจก็จะลดลงไปเรื่อย”

ตามแผนเดิม โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) บริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท


@ เลขาฯ EEC ชี้ปีนี้ MRO ควรชัดเจน หวั่นเสียโอกาส

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติหลายรายให้ความสนใจ สอบถามข้อมูลโครงการ MRO และจากที่ EEC ออกไปโรดโชว์ต่างประเทศมีผู้ประกอบการสนใจมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่สามารถดำเนินการได้เปิดกว้าง และมีลูกค้าในมืออยู่แล้ว เช่น นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส ที่มีเทคโนโลยีด้านการบินและอุตสาหกรรมด้านอวกาศอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการลงทุนเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยชั้นสูง โดยอีอีซีได้ให้ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซีในด้านระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ และระบบบริหารจัดการท่าอากาศยาน

“การพัฒนา MRO มีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งนักลงทุนรู้ดีว่า อุตสาหกรรมการบินกลับมาหลังโควิด ซึ่งในภูมิภาค ฯ มีแนวโน้มการเติบโตสูง จะเห็นได้ว่ามีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มขึ้น 

MRO จึงเป็นอู่สำหรับซ่อมบำรุงเครื่องบิน ได้ทุกประเภท ทุกยี่ห้อ”


ปัจจุบันการบินไทยยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู ที่มีเงื่อนไขและอาจไม่พร้อมลงทุน ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินที่กำลังฟื้นตัว เป็นช่วงเวลาที่ไทยต้องผลักดัน MRO เพราะเป็นโอกาสของประเทศที่อาจจะรอให้การบินไทยมีความพร้อมก่อนไม่ได้ เพราะหากไม่รีบคว้าโอกาส นักลงทุนรอไม่ไหวและหันไปลงทนที่ประเทศอื่น ก็เท่ากับไทยหมดโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคตามเป้าหมาย 

“ล่าสุดการบินไทยเข้ามาหารืออีอีซีว่ายังสนใจที่จะดำเนินการ MRO ต่อ แต่ต้องยอมรับว่าการบินไทยจะลงทุนอะไรในตอนนี้ต้องถามผู้บริหารแผนฟื้นฟูก่อน เพราะต้องใช้เงิน 2,000-3,000 ล้านบาท การบินไทยไม่ผิด แต่ต้องมองโอกาสประเทศด้วย MRO เป็น 1 ใน 4 โครงการพื้นฐานสำคัญในการพัฒนา EEC มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ให้การบินไทย จึงเป็นอีกโครงการที่ควรต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปีนี้ หากยังไม่พร้อม และประเมินว่า ความล่าช้าจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาส ก็จำเป็นต้องปรับวิธี อาจจะเปิด PPP ให้เอกชนอื่นเข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด แม้ MRO จะลงทุนสูง แต่ทำเร็ว เปิดเร็ว ก็ได้เงินเร็ว และช่วยสร้างดีมานด์ในภาพรวม”


กำลังโหลดความคิดเห็น