xs
xsm
sm
md
lg

USSEC ชี้ ”ถั่วเหลือง” พืชเศรษฐกิจสำคัญ โชว์ไอเดียยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากพูดถึงพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถั่วเหลือง มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมาไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก แม้ในปีนี้ประเทศไทยจะมีพื้นที่การเพาะปลูกที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม ล่าสุด คุณทิโมธี โลห์ (Timothy Loh) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย สภาการส่งออกถั่วเหลืองแห่งสหรัฐอเมริกา (USSEC) ได้กล่าวว่า ถั่วเหลืองมีบทบาทสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ผมได้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ปี 2541 และหนึ่งในตลาดที่ผมเคยได้ศึกษาและพัฒนาก็คือตลาดในประเทศไทย ในยุคแรก ๆ ประเทศไทยมีการปลูกถั่วเหลืองในปริมาณมาก แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยขับเคลื่อนที่แตกต่างไป ทำให้ปริมาณการเพาะปลูกลดน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรสามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ปริมาณถั่วเหลืองที่ถูกผลิตน้อยลงไปมาก แต่อย่างไรก็ตามระดับการบริโภคยังคงแข็งแกร่งมาก และในประเทศไทยตลาดถั่วเหลืองเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับถั่วเหลืองทั้งเมล็ดถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์อีก 2 ชนิดที่ออกมาจากถั่วเหลือง ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านการหมัก เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ฯลฯ
2. อุตสาหกรรมบดถั่วเหลืองในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด (ถ้าไม่ใหญ่ที่สุดใน SEA) เรามีอุตสาหกรรมการบดขนาดใหญ่มาก เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับ 2 ผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ผลพลอยได้ แต่เป็นผลผลิตหลัก ได้แแก่ เนื้อถั่วเหลืองที่อุดมด้วยโปรตีนซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการบดถั่ว และการสกัดน้ำมันถั่วเหลือง

ดังนั้น ถั่วเหลืองมีความสำคัญอย่างไรในฐานะส่วนประกอบอาหารและส่วนประกอบอาหารสัตว์ ตอบได้เลยว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากมองเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ จะมองได้ว่า ด้านอาหารที่ถั่วเหลือง ถูกแปรรูปเป็นนมถั่วเหลืองโดยตรง ประเทศไทยเป็นผู้บริโภคนมถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยบริษัท Tetra Pak ประเมินไว้ว่าการบริโภคนมถั่วเหลืองต่อหัวในประเทศไทยสูงกว่า 12 ลิตรต่อคน ทั้งยังมีผู้ผลิตใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น กรีนสป็อต แลคตาซอย ดัชมิลล์ และบริษัทอื่นๆ อีกสองสามแห่งที่ทำผลิตภัณฑ์อาหารจากถั่วเหลือง สาเหตุหนึ่งที่ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากถั่วเหลืองได้รับความสนใจอย่างมากก็เนื่องมาจากฐานผู้รับประทานมังสวิรัติจำนวนมาก แม้ไม่ได้รับประทานมังสวิรัติตลอดทุกวัน แต่มีประชากรบางส่วนที่รับประทานมังสวิรัติเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ต่อปี ตามความเชื่อและความชอบในรสชาติของโปรตีนทางเลือกนี้

ขณะที่ด้านอาหารสัตว์และปศุสัตว์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก เพราะประเทศไทยเป็นผู้บริโภคและผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปและเอเชียเหนืออีกด้วย โดยโปรตีนจากถั่วเหลือง/กากถั่วเหลือง ซึ่งสามารถใช้ทำซอสถั่วเหลืองได้นั้น ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนั้นน้ำมันโปรตีนถั่วเหลืองส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ปรุงอาหาร และยังมีอีกภาคส่วน นั่นคือ ไบโอดีเซลหมุนเวียนที่กำลังเติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับถั่วเหลืองทั้งเมล็ดหรือกากถั่วเหลืองเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชีย แต่ก็ยังนำเข้าถั่วเหลืองจำนวนมากของสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการแปรรูป ปริมาณนับแสนเมตริกตัน แล้วเมื่อดูปริมาณการบริโภคถั่วทั้งเมล็ดที่ส่งมาจากสหรัฐในประเทศไทยก็ประมาณ 15-20% เพราะถั่วส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่น โดยมีราคาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

“ผมอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาประมาณ 25 ปี และได้เห็นกลยุทธ์ต่างๆ พัฒนาไปตามกาลเวลา ตลาดมีการพัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้บริโภคที่ปลายห่วงโซ่มีความรู้มากขึ้นมาเรื่อย ๆ ผมขอเริ่มจากจุดเริ่มต้น ประการแรก ผมจะบอกว่าสหรัฐฯเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของตน การลงทุนของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมถั่วเหลืองในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นมานานแล้ว สำนักงานส่วนภูมิภาคในสิงคโปร์ เริ่มต้นในปี 2522 ถัดมาคือตลาดอินโดนีเซียในปี 2524 ตามด้วยตลาดเวียดนามในปี 2538 จากนั้นประเทศไทยในปี 2539 ฟิลิปปินส์เริ่มต้นในช่วงปี 2538-2539 แม้ว่าก่อนที่จะมีปริมาณหรือการบริโภคหรือส่วนแบ่งการตลาดใด ๆ เกษตรกรผู้ปลูกก็เห็นและเข้าใจแล้วว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นตลาดที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้นหากย้อนไปเมื่อประเทศไทยเริ่มก่อตั้งในปี 2539 เราทำหลายอย่างมาก เราไม่ได้เน้นขายผลิตภัณฑ์แต่เน้นไปที่การสร้างเสริมความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรม”

“เป้าหมายของเราอยู่ที่การช่วยให้อุตสาหกรรมเติบโตด้วยการแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี อะไรก็ได้ที่เราสามารถทำได้ บริการของเราได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ปลูกของเรา และเราไม่ได้รับรายได้จากส่วนนี้ โดยนับว่าเป็นการลงทุนและความเชื่ออย่างแท้จริงว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ มีศักยภาพมากมายก่อนที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 670 ล้านคนในปัจจุบัน ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2522 และในประเทศไทยในปี 2539 เพื่อช่วยให้ลูกค้าเติบโตและเพื่อให้ลูกค้าของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดหรือการขายเป็นหลัก โดยรู้ว่าผู้บริโภคกำลังจะบริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น ประชากรทางสังคมกำลังจะขยายตัว ชุมชนในชนบทจะกลายเป็นเมืองมากขึ้น ผู้คนกำลังจะย้ายเข้าเมือง ผู้คนจำนวนมากขึ้นจะย้ายจากรายได้ต่ำไปสู่รายได้ปานกลาง และรายได้ปานกลางนี่แหละคือกลุ่มที่มีการบริโภค ดังนั้นจึงเป็นความเชื่อมั่นที่เรามีต่อประเทศไทยและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า” คุณทิโมธี โลห์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น