xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก "แลนด์บริดจ์" อภิมหาเมกะโปรเจกต์ 1 ล้านล้าน ประตูการค้าใหม่ พลิกโฉมเส้นทางขนส่งโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แลนด์บริดจ์” หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) หากสามารถลงทุนพัฒนาได้ตามเป้าหมายจะเป็นอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด” One Port Two Side” และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ 

@ปักหมุดจุดสร้างท่าเรือ "แหลมริ่ว & แหลมอ่าวอ่าง" รองรับฝั่งละ 20 ล้านทีอียู 
การศึกษาได้คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่งที่เหมาะสมได้แล้ว คือ บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง ขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู รวมถึงแนวเส้นทางการพัฒนาระบบเชื่อมโยง ระยะทาง 93.9 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นระยะทางบนบก 89.35 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือระนอง 2.15 กม. ระยะทางในทะเลสู่ท่าเรือชุมพร 2.48 กม.

ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน (1.435 เมตร) รองรับการขนส่งสินค้า และรางขนาด  1 เมตร เพื่อเชื่อมการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในโครงข่ายรวมของประเทศอีกด้วย โดยมีรูปแบบทั้งทางยกระดับ ทางระดับพื้น และอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง


@เปิดแผนลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ผุด "ท่าเรือ-รถไฟ-มอเตอร์เวย์" ครบวงจร

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น การพัฒนาแลนด์บริดจ์ประมาณมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.001 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

1. การก่อสร้างท่าเรือ มูลค่าลงทุนรวม 636,477 ล้านบาท (ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 305,666.44 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู, ท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 330,810.56 ล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู)

2. การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่าลงทุนรวม 141,103.47 ล้านบาท (ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 86,397.85 ล้านบาท ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 54,705.62 ล้านบาท)

3. เส้นทางเชื่อมโยงชุมพร-ระนอง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ มูลค่าลงทุนรวม 223,626 ล้านบาท


โดยจะแบ่งการพัฒนาเป็น 4 เฟสย่อย ดังนี้

แผนลงทุน เฟส 1/1 มีมูลค่ารวม 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 260,235.51 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 118,519.50 ล้านบาท รองรับ 4 ล้านทีอียู ก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 141,716.02 ล้านบาท รองรับ 6 ล้านทีอียู
- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 60,892.56 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพรมูลค่าลงทุน 38,113.45 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 22,779.11 ล้านบาท
- เส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ขนาด 4 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร

แผนลงทุน เฟส 1/2 มีมูลค่ารวม 164,671 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ขยายท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 118,809.53 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 45,644.75 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 8 ล้านทีอียู ขยายท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 73,164.78 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 12 ล้านทีอียู
- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 23,952.30 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 10,498.30 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 13,454 ล้านบาท
- เส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 21,910 ล้านบาท โดยเป็นการขยายมอเตอร์เวย์จากขนาด 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร

แผนลงทุน เฟส 1/3 มีมูลค่ารวม 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ขยายท่าเรือ 2 ฝั่ง มูลค่ารวม 189,151.75 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 73,221.99 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 14 ล้านทีอียู ขยายท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 115,929.76 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 20 ล้านทีอียู
- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 39,361.04 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 20,888.52 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 18,472.52 ล้านบาท

แผนลงทุน เฟส 1/4 มีมูลค่ารวม 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ขยายท่าเรือ ฝั่งชุมพร มูลค่า 68,280.20 ล้านบาท เพิ่มการรองรับเป็น 20 ล้านทีอียู
- พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 16,897.57 ล้านบาท


@ไฮไลต์ มอเตอร์เวย์และรถไฟ ทางลัดแผ่นดินเชื่อมขนส่งสองฝั่งทะเล

สำหรับแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ออกแบบเป็นมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ทั้งรางขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ซึ่งเป็นเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองควบคู่กับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทาง 89.35 กม. แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ (อ.เมืองระนอง จ.ระนอง และ อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร)

ด้วยประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ในการเป็นประตูการค้า การขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่างๆ ของโลก โดยมองว่า "แลนด์บริดจ์" จะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้า และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการ คือ ลดระยะเวลาการขนส่งเส้นทาง จากที่ผ่านช่องแคบมะลากาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

จากการศึกษาวิเคราะห์เส้นทางเดินเรือหลักสายใหม่ที่จะเกิดขึ้น เมื่อมี "แลนด์บริดจ์" โดยจะเป็นการขนส่งสินค้า ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออก, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน โดยลูกค้าหลัก จะเป็นเรือสินค้า ฟีดเดอร์ ขนาด 5,000-6,000 ทีอียู และเป็นทางเลือกของสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน และเกิดอุตสาหกรรมหลังท่า (Port Industry) มีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพรส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้

ในการศึกษาโมเดลรูปแบบการเคลื่อนที่ของสินค้าที่จะผ่าน "โครงการแลนด์บริดจ์" ฝั่งระนอง รวมประมาณ 19.4 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 13.8 ล้านทีอียู ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ฝั่งระนอง ประมาณ 13.6 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 12.2 ล้านทีอียู
2. สินค้านำเข้า-ส่งออกของไทย ฝั่งระนอง ประมาณ 4.6 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 1.4 ล้านทีอียู
3. สินค้าจีนตอนใต้และ GMS ฝั่งระนอง ประมาณ 1.2 ล้านทีอียู ฝั่งชุมพร ประมาณ 0.2 ล้านทีอียู

และ "แลนด์บริดจ์" จะทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมบริการ ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง

@เสริมการเดินเรือ-ไม่แข่งท่าเรือสิงคโปร์

“ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามักมีคำถามถึงการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร คำตอบคือ ต้องการให้เป็นประตูการค้า การนำเข้าส่งออกของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการรองรับสินค้าเส้นทาง จากจีน ลาว อินเดีย ไปยังยุโรป หรือสินค้าจากยุโรป มายังภูมิภาคอาเซียน

ที่สำคัญ ”แลนด์บริดจ์” ไม่ได้ทำเพื่อแข่งขันกับท่าเรือสิงคโปร์ ที่มีเส้นทางรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ แต่ "แลนด์บริดจ์" จะเสริมการขนส่ง ที่ปัจจุบันปริมาณเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกาเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการค้าขาย ขณะที่ช่องแคบมะละกามีขีดจำกัดในการรองรับ ทำให้เรือต้องเสียเวลารอ “แลนด์บริดจ์” จะช่วยย่นระยะทาง ลดระยะเวลา และเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (จ.ชุมพร) และฝั่งอันดามัน (จ.ระนอง) รองรับตู้สินค้าและใช้มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ


@ศึกษาร่าง พ.ร.บ.SEC ดันตั้งสำนักงานขับเคลื่อน

นอกจากนี้ การพัฒนา "แลนด์บริดจ์" จะเป็นส่วนเสริมศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่ EEC อีกด้วย โดย สนข.ได้นำต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการ EEC โดยอยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ.SEC) และแนวทางการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อไป

“แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษที่แตกต่างจากการลงทุนทั่วไป จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะ”

เบื้องต้น รูปแบบท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ จะรวมการลงทุนเป็นแพกเกจเดียวกัน ให้เอกชนลงทุน 100% โดยเป็นเอกชนต่างชาติร่วมกับเอกชนไทย เข้ามาก่อสร้าง และพัฒนาท่าเรือ รวมถึงบริหารท่าเรือ ทำการตลาดหาลูกค้า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ เช่น เกิดการจ้างงาน การพัฒนาพื้นที่หลังท่า เกิดนิคมอุตสาหกรรม กระจายรายได้และเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ประเมินระยะเวลาสัมปทานไว้ที่ 50 ปี โดยนักลงทุนเป้าหมายคือ กลุ่มสายเดินเรือขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าในมือ ผู้บริหารท่าเรือที่มีความเชี่ยวชาญ และนักลงทุนอื่นๆ โดยจะรับฟังข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ว่าต้องการให้รัฐสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกเรื่องใดบ้าง โดยจะเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ (RoadShow) ช่วงเดือน ต.ค -พ.ย. 2566 ซึ่งข้อมูลจากนักลงทุนจะนำมาประกอบการศึกษาเพื่อวิเคราะห์โมเดลการพัฒนาการลงทุนที่เหมาะสม

สำหรับสายเรือขนาดใหญ่ระดับโลกที่เป็นนักลงทุนเป้าหมาย ได้แก่ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ


@ไทม์ไลน์ ชง ครม.เห็นชอบ ต.ค. 66 เปิดประมูล Q2 ปี 68

ระยะเวลาการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ฯ จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งมีการขยายระยะเวลาศึกษาออกไป 12 เดือน เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EHIA) โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 วันที่ 16-17 ส.ค. 66 ครั้งที่ 2 เดือน ธ.ค. 66 ครั้งที่ 3 เดือน มี.ค. 67 จากนั้นจะนำรายงาน EHIA เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป

โดยกำหนดแผนงานเสนอ ครม.เห็นชอบหลักการในเดือน ต.ค. 2566, โรดโชว์นักลงทุนช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. 2566, ปรับปรุงรายละเอียดและวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลโรดโชว์ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566, เสนอ ครม.ขออนุมัติดำเนินโครงการ พร้อมขอความเห็นชอบ รูปแบบเงื่อนไข ต่างๆ ช่วงเดือน ม.ค. 2567, เสนอ พ.ร.บ.SEC พร้อมเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ไปยังสภาฯ และจัดทำ RFP เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน, สภาฯ ผ่าน พ.ร.บ.SEC ช่วงไตรมาส 4/2567, จะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนภายในไตรมาส 2 ปี 2568, ลงนามสัญญาไตรมาส 3 ปี 2568 เริ่มการก่อสร้างภายในปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในระยะแรกในไตรมาส 4 ปี 2573

@ตั้งเงื่อนไขลงทุนพร้อมเยียวยาผลกระทบในพื้นที่

ในการศึกษาได้มีการลงพื้นที่ชี้แจงข้อมูลโครงการฯ พร้อมพูดคุยรับฟังความเห็น ข้อห่วงใย ของประชาชนในทุกหมู่บ้าน รวมไปถึงภาคเอกชน สภาหอการค้าฯ ในทุกเซกเตอร์เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และมีการตอบรับของประชาชนค่อนข้างดี เช่น พื้นที่ทำประมงหากมีผลกระทบ สูญเสียรายได้มีการวางแผนรองรับ โดยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบแต่ละกลุ่มใส่ไว้ในเงื่อนไข RFP โดยผู้ลงทุนพัฒนาจะต้องนำรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบเข้าสู่ระบบงานที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีแลนด์บริดจ์ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ต่อไป

“มั่นใจว่าการศึกษาโครงการฯ ทำอย่างรอบคอบ ครอบคลุมทุกภาคส่วน พร้อมแนวทางแก้ไข เยียวยา ที่ชัดเจน ซึ่งสนข.พร้อมชี้แจงรัฐบาล เชื่อว่าหากโครงการฯ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ โดยทุกภาคส่วนเห็นชอบ มั่นใจว่าฝ่ายการเมืองน่าจะสนับสนุน และผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ”


กำลังโหลดความคิดเห็น