การตลาด – เปิดแผน GMM MUSIC เตรียมกระโจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ วางโรดแมป “New Music Economy” รับเทรนด์อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกกลับมาถึงจุด “Music Second Wave” เผย 7 ยุทธ์ศาสตร์การขยายธุรกิจ ลุ้นสรุปดีลใหญ่ธุรกิจกับพาร์ทเนอร์สิ้นปีนี้ ดันรายได้ปีนี้ที่ 3,800 ล้านบาท
เป็นอีกหนึ่งบริษัทฯที่น่าจับตามองถึงแผนการนำบริษัทฯเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (GMM MUSIC) ที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจในเครือข่ายของ อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการอนุมัติแผนการ Spin-Off ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (GMM MUSIC) ซึ่งถือเป็นธุรกิจเรือธงหลักหรือ Flagship Company ของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในการดำเนินธุรกิจเพลงแบบครบวงจร และเป็นพี่ใหญ่ของวงการเพลงก็ว่าได้
การเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อระดมเงินทุนในการขยายกิจการและสร้างการเจริญเติบโตให้กับอุตสาหกรรมเพลงภายใต้คอนเซ็ปต์ “New Music Economy”
ธุรกิจเพลง ก็ยังคงมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง แม้ว่าจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วเต็มตัวก็ตาม เพราะวันนี้ผู้คนสามารถหาความบันเทิงใส่ตัวได้ในหลายรูปแบบและหลายช่องทาง
ทำไม จีเอ็มเอ็ม จึงต้องนำธุรกิจเพลงเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวว่า “อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้เติบโตกลับมาถึงจุดที่เรียกว่า “Music Second Wave” ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมทั่วโลกมียอดรายรับ “ทะลุจุดสูงสุดที่เคยสร้างไว้ในอดีต” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “อุตสาหกรรมเพลงได้กลับมาสู่จุดรุ่งเรืองสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง และกำลังเติบโตขึ้น”
ทั้งนี้จากตัวเลขการคาดการรายรับ (World Business Projection) อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกจะเติบโตขึ้นอีกเป็นเท่าตัว (X2) ภายในปีค.ศ. 2030
แน่นอนว่าเหตุผลหลักของการเติบโตนั้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.การเติบโตของธุรกิจ Digital Streaming และ 2. การเติบโตของธุรกิจ Showbiz ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
นายภาวิต เชื่อมั่นด้วยว่า “วันนี้ การ Spin-Off ธุรกิจเพลงในครั้งนี้จะทำให้มูลค่าของ GMM MUSIC สะท้อนมูลค่าตลาดที่แท้จริงของ GMM MUSIC ในอุตสาหกรรมเพลง ซึ่ง GMM MUSIC มีความพร้อมที่จะขยายตัวได้อีกมาก”
การขยายตัวย่อมสำคัญในเรื่องของการทำธุรกิจ แต่อีกปัจจัยที่ค่อนข้างจะสำคัญที่ทำให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค วางแผนที่จะต้องเข้าตลาดหุ้นในปีนี้ นั่นคือ
“ปี2566นี้เป็นปีที่บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ มีอายุครบรอบ 40 ปี หากแต่เราไม่ได้มองแค่เพียงความสำเร็จของตัวเราในวันนี้แล้ว เรามองไปอีก 40 ปีข้างหน้า ว่าต่อจากนี้ เราจะทำอย่างไร ที่จะทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตร่วมไปกับทุกศิลปิน ทุกค่ายเพลง เพื่อความเจริญรุ่งเรือง สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตไม่แพ้สัดส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจเพลงในตลาดโลก (For The Next 40 years of Music Legacy) ภายใต้กรอบความคิดใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ และคนหัวคิดสมัยใหม่ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เราเดินทางสร้างตลาด เปลี่ยนผ่านจากความเป็น Music Company สู่ Music Infrastructure จนวันนี้เราจะเดินหน้าสู่การเป็น New Music Economy ที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นเลิศให้กับทุกคนในอุตสาหกรรมเพลงไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นายภาวิต กล่าว
นี่่ย่อมเป็นการอธิบายได้ดี ถึงแนวทางการเดินหน้าขับเคื่อนธุรกิจเพลงในฉากต่อไป
ขณะที่หัวเรือใหญ่อีกคนอย่าง “ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ก็ให้รายละเอียดได้อย่างชัดเจนว่า “การ Spin-Off ที่จะเกิดขึ้นนี้ บริษัทตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแรง ทั้งขนาดรายได้ ขนาดกำไร คุณภาพของศิลปิน และคุณภาพของทีมงาน ผมมั่นใจว่าหากเราผลักดัน New Music Economy ได้นั้น อาจหมายถึงการเติบโตการผลิตได้ถึง 2 เท่า เราก็ควรที่จะสร้างรายได้เติบโตได้เป็น 2 เท่าเช่นกัน และหากเราสามารถสร้างความร่วมมือ และพันธมิตรได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า ตลาดก็น่าที่จะเติบโตได้เป็น 2 เท่าเช่นกัน”
มุมความคิดเหล่านี้ ล้วนสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของตลาดโลก ที่ไม่ได้เติบโตแค่ในเชิงของคุณภาพเพียงแค่นั้น หากแต่เติบโตด้วยเรื่องของขนาด (Scale) เป็นอีกนัยยะสำคัญหนึ่งเช่นกัน การเติบโตที่เราเชื่อมั่นมาจากทั้งพื้นฐานธุรกิจที่มั่นคง (Sustainable Growth) และความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรทุกสาขา (Strategic Growth)
“ปัจจุบันนี้ ผม และบริษัทได้เตรียมการที่จะเดินหน้าด้าน Strategic Investment อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันเราได้ทำการเจรจา และอยู่ในขั้นตอนการสรุปดีลกับ Partner ต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศความร่วมมือต่าง ๆ ได้ภายในไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ของปี 2566 นี้” นายฟ้าใหม่ ระบุอย่างหนักแน่น
สำหรับแผนการขยายธุรกิจหลังจากที่เข้าตลาดหุ้นแล้วนั้น มีการวางรูปแบบและโมเดลรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนระดับหนึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อการขยายธุรกิจในหลายภาคส่วน โดยมุ่งหวังที่จะสะท้อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ ขยายอุตสาหกรรมเพลงทั้งตลาด
ทั้งนี้ สรุปออกมาเป็น 7 ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจประกอบด้วย
1. Double Up Production
การขยายการผลิต เป็นอีกเท่าตัวจากการผลิตในปัจจุบัน โดย GMM MUSIC มีแผน “จะเพิ่มการผลิต” ผลงานต่างๆให้มากขึ้น กล่าวคือ
1.1 เพลง จากเดิมที่มีประมาณ 400 เพลงต่อปี จะเพิ่มเป็น 1,000 เพลงต่อปี
1.2 จำนวนศิลปิน จากเดิมมี 120 ศิลปิน จะเพิ่มเป็น 200 ศิลปิน ภายใน 5 ปี
1.3 จำนวนPlaylist เข้าสู่ Streaming Platform จาก 3,000 Playlists จะเพิ่มเป็น 6,000 Playlists ต่อปี
1.4 จำนวน Full Album จากเดิมมประมาณ 30 อัลบั้มต่อปี จะเพิ่มเป็น 50 อัลบั้มต่อปี
1.5 จำนวนศิลปินฝึกหัด จากเดิมมี 150 ศิลปิน จะเพิ่มเป็น 300 ศิลปินต่อปี
2. Showbiz Expansion
การขยาย Scale ของ Music Festival ที่ครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศ สู่การรองรับจำนวนผู้ชมซึ่งจะมากกว่า 500,000 คนต่อปี ด้วยความตั้งใจร่วมมือกับทุกค่ายเพลง พร้อมต่อยอดแหล่งรายได้ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว กวาดรายได้ทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศ
ในขณะที่ Arena Concert นอกจากจะมี Line Up ที่ครอบคลุมตั้งแต่ศิลปินยุคแจ้งเกิดของบริษัทจนถึงศิลปินยุคปัจจุบัน GMM MUSIC จะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งใน และต่างประเทศในการขยาย Segment เดินหน้าสู่การเป็นผู้จัด International Fan Meeting & Concert อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมจับมือกับ Promoter เจ้าต่าง ๆ ใน Southeast Asia เพื่อการขยายตัวของธุรกิจอย่างยั่งยืน
3. Local Alliance
การขยายพันธมิตรทางดนตรี ร่วมจับมือกับค่ายเพลงในประเทศไทย ผ่านการ M&A (Mergers & Acquisitions) หรือ JV (Joint Venture) เพื่อสร้าง Synergy Value ในการขยายการผลิต และการเติบโตทางธุรกิจทุกช่องทาง ร่วมกันสร้างให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตใหญ่ยิ่งขึ้นในระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยสามารถสร้างการขยายตัวได้ทั้งในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ พร้อมการสร้างรายได้ที่มากขึ้น
4. Global Strategic Partner
การขยายการจับมือกับบริษัทชั้นนำในต่างชาติผ่านการ JV (Joint Venture) เพื่อการสร้างงานเพลง และส่งเสริมศิลปินไทย เดินหน้าสู่ศักยภาพ และมาตรฐานใหม่ในระดับสากล (Thailand Soft Power) ซึ่งการเดินหน้าจับมือในครั้งนี้ บริษัทได้วางแผนที่จะจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำในภูมิภาคต่าง ๆ (Global Leader) อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา, สแกนดิเนเวีย, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในแถบ Southeast Asia ซึ่งการเดินหน้า JV ต่าง ๆ นี้จะคล้ายคลึงกับการ JV ของ GMM MUSIC กับ บริษัท YG Entertainment ในการจัดตั้ง JV YGMM เพื่อคัดสรร และผลิตศิลปินไทยป้อนสู่ระดับสากลที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
5. Media Networking
การขยายวงล้อมการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพในทุกรูปแบบ และทุกช่องทางการสื่อสารผ่านการสร้าง Partnership Deal หรือ JV เพื่อแลกเปลี่ยนศักยภาพทางธุรกิจที่ต่อยอดได้ไม่รู้จบทั้งสื่อทางด้าน On Air On Board Online และ On Ground ส่งเสริมการ Promote ศิลปินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
6. Data Intelligent
การขยายศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูล Big Data ผ่านการลงทุนเพิ่มด้าน Data Scientist Machine Learning และระบบ AI พร้อมสร้าง Tools ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการค้า การบริหารจัดการ และการพัฒนาศิลปิน รองรับธุรกิจแห่งอนาคตที่ให้ความสำคัญด้าน Personalization Offering
7. New World Talent
การขยายทีมงานแห่งอนาคตด้วยการลงทุนในบุคลากรรุ่นใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเติมเต็ม สืบทอด ต่อยอด รองรับการก้าวไปข้างหน้าของธุรกิจเพลง
แน่นอนว่า หากแผนการดำเนินการขยายต่างๆตาม 7 ยุทธศาสตร์นี้ บรรลุผล ย่อมทำให้ผลประกอบการรายได้
ปัจจุบัน GMM MUSIC มีที่มาของรายได้จาก 5 แหล่งธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
1. Music Digital Business มียอดรายได้ที่ 1,152 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 34%
2. Music Artist Management Business มียอดรายได้ที่ 1,177 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 35%
3. Showbiz Business มียอดรายได้ที่ 678 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 20%
4. Right Management Business มียอดรายได้ที่ 234 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 7%
5. Physical Business มียอดรายได้ที่ 147 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 4%
โดยข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ อ้างอิงจากรายได้ 12 เดือนย้อนหลังของธุรกิจเพลง นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 ถึงไตรมาส 1 ปี 2566 ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค
นายภาวิต จิตรกร กล่าวว่า “บริษัทตั้งประมาณการที่จะสร้างรายได้ที่ 3,800 ล้านบาท ในปี 2566 นี้ และพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การสร้างผลประกอบการแบบ New High ภายในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ New Music Economy ยังมีฉากทัศน์อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นภายใต้การ Spin-Off ของ GMM MUSIC ในครั้งนี้”
จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แผนการเข้าตลาดหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะบรรลุผลเมื่อไร และจากนั้น การเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลยุทธ์และโอกาส และภายใต้กรอบของตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร