xs
xsm
sm
md
lg

GPSC ชู "ศูนย์ควบคุมและสั่งการอัจฉริยะ" โครงข่ายจัดการพลังงานไฟฟ้าเอกชนใหญ่ที่สุดในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GPSC ก้าวไปอีกขั้น เปิดตัว "ศูนย์ควบคุมและสั่งการอัจฉริยะ" โครงข่ายจัดการพลังงานไฟฟ้าเอกชนแบบ Realtime ใหญ่ที่สุดในไทย ครอบคลุมโรงไฟฟ้า 17 แห่ง ทั่ว ESB ระยอง-ชลบุรี พร้อมให้บริการ ส.ค.นี้ รองรับระบบรับซื้อ-ขายไฟฟ้าในอนาคต

นับเป็นการพัฒนาด้านพลังงานที่ก้าวไปอีกขั้นของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอัจฉริยะ กลุ่ม ปตท. ล่าสุดได้เปิดตัว ศูนย์ควบคุม และสั่งการอัจฉริยะ หรือ Control Command Center (CCC) ภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 2 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นศูนย์เพื่อใช้สำหรับการจัดการโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าภายใต้การดูแลของ GPSC ทั้ง 17 แห่ง และยังเป็นศูนย์ควบคุมและสั่งการโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย โดยเตรียมให้บริการเฟสแรกในเดือนสิงหาคม 2566

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC เปิดเผยว่า ศูนย์ควบคุม และสั่งการอัจฉริยะ (CCC) แห่งนี้เพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมของข้อมูลในการปฏิบัติการทั้งหมดของกลุ่ม GPSC โดยปัจจุบัน GPSC มีโรงไฟฟ้ากระจายอยู่ในเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program : ESB) ทั้ง จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี รวม 17 แห่ง ซึ่งก็มีการส่งข้อมูล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งไฟฟ้า และ ไอน้ำเข้ามาที่เครือข่ายของระบบไฟฟ้าและระบบไอน้ำ ศูนย์นี้จึงเป็นการรวมข้อมูลทั้งหมดของกระบวนการปฏิบัติทั้งการผลิต การส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราเห็นภาพของการปฏิบัติงานแบบ Real time online รวมไปถึงเรื่องของการดูแลประสิทธิภาพการดำเนินการทั้งหมด

"นอกจากนั้นแล้วในกรณีที่มีปัญหาหรือเหตุฉุกเฉิน ศูนย์นี้ก็จะเป็นศูนย์ที่จะเห็นทั้งหมดเลยว่า สถานการณ์นั้นเกิดปัญหาที่จุดใด แล้วจะสั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้ก็จะทำให้กระบวนการบริหารจัดการในภาพรวมทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นายศิริเมธ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC ยังระบุถึงความสำคัญของ ศูนย์ควบคุม และสั่งการอัจฉริยะ (CCC) ว่า โรงไฟฟ้าแต่ละโรงอาจจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันบ้าง แต่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้โครงข่ายของ GPSC เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ วิธีการที่เรียกว่าการสั่งปฏิบัติการแบบ Merit order คือการเรียกเดินไฟฟ้าจากโรงที่ไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่อการผลิต 1 หน่วย ต่ำที่สุดไล่เรียงกันไป จนกระทั่งเพียงพอที่จะจ่ายให้กับลูกค้ารายสุดท้าย โดยกระบวนการตรงนี้จะทำให้ GPSC มีประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารทั้งต้นทุน การใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดที่ GPSC มีกับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ


ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุม และสั่งการอัจฉริยะ (CCC) ได้ใช้เทคโนโลยีระบบ Data Collection ในการเก็บรวบรวมข้อมูลแต่ละพื้นที่ที่อยู่กระจายกันออกไปแบบ Real time online ผ่านระบบ PI System และระบบ SCADA จากนั้นจึงนำข้อมูลมาบูรณาการเพื่อเข้าสู่ระบบประมวลผล เปรียบเทียบเป้าหมายในการกำหนดประสิทธิภาพและสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลในการสั่งการต่อไปว่าจะต้องไปปรับปรุงกระบวนการในพื้นที่ใด อย่างไร เพื่อให้มีมาตรฐานสูงสุดอยู่ตลอดเวลา โดยคณะผู้บริหารสามารถเข้าไปสั่งการและดูข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบได้ Real time ตลอดเวลาอีกด้วย

ขณะที่ ศูนย์ควบคุม และสั่งการอัจฉริยะ (CCC) ยังมีระบบแจ้งเตือนในกรณีที่เกิดเหตุต้องเฝ้าระวังและยังแนะนำว่าให้ดำเนินการอย่างไร ซึ่งทำให้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมสำหรับใช้ในการสั่งการระบบ Power Trading Platform ที่จะใช้รับซื้อ-ขายไฟฟ้าในอนาคต หากระบบ มาตรฐาน หรือระเบียบต่างๆ พร้อมเปิดให้บริการได้


โดย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC เชื่อว่า ลูกค้าของ GPSC จะได้ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดจากศูนย์ควบคุมดังกล่าว คือเมื่อมีระบบที่สามารถเห็นได้หมด ทั้งความต้องการของลูกค้า และส่วนในการผลิตของ GPSC ก็จะทำให้ความสามารถในการส่งมอบของ GPSC เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ระบบเสถียรภาพของการผลิตก็ดีขึ้น หรือกรณีมีปัญหาในเรื่องฉุกเฉินใด ๆ ก็จะสามารถดูแลภาพรวมทั้งหมดแล้วก็สามารถนำระบบคืนสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น และยังเป็นศูนย์ที่จะให้ข้อมูลกับลูกค้าได้ในภาวะต่าง ๆ ข้อมูลทั้งหมดก็จะสามารถส่งมอบไปถึงลูกค้าได้เร็วขึ้น และสามารถมองเห็นภาพได้ด้วยว่า สิ่งที่เรากำลังคุยกับลูกค้าในข้อเท็จจริงปัจจุบันเป็นอย่างไร

"พอเราบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มันจะทำให้การปลดล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม Climate Change ก็จะดีขึ้น ตรงนี้เองก็จะเป็นประโยชน์กับภาคประชาชนแน่นอน ในส่วนของสังคมที่เรารับผิดชอบอยู่ และสุดท้ายในส่วนของผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัทมีความสามารถในการบริหารที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการบริหารสินทรัพย์ที่ GPSC มีอยู่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ตลอดเวลาของการทำงานของเราเนี่ย เราใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นายศิริเมธ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น