เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่สถาบันลูกโลกสีเขียว ได้ทำหน้าที่ในการค้นหา ยกย่อง ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้กับบุคคล กลุ่มคน ชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นพลังเล็ก ๆ ที่ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทั้ง ดิน น้ำ ป่า ปี 2566 นี้ มีผลงานอันทรงคุณค่า 44 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล ซึ่งต้องบอกว่า แต่ละผลงานล้วนมีคุณค่าต่อสังคม ประเทศ และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง
ถามว่า ทำไมถึงต้องมีรางวัลนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องป่า น้ำ และดิน ที่ถูกทำลายไปเรื่อย ๆ นั้น มีความสำคัญและเป็นปัจจัยแห่งชีวิต ถ้าปล่อยให้สภาพเป็นแบบนี้โดยไม่รู้คุณค่า ผลสุดท้าย มนุษย์ก็จะล่มสลายไปหมด การเกิดขึ้นมาของรางวัลนี้จึงเป็นเหมือนเสียงอีกหนึ่งเสียงที่ต้องการจะกระตุ้นให้คนเหลียวกลับมาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม
“ถ้าเราไม่ทำ เราไม่รอด เราทำลายโลกมาก่อน ในที่สุด โลกก็จะทำลายเรา จากข่าวคราวที่เราได้รับรู้ผ่านสื่อทั้งต่างประเทศและไทย จะพบว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเข้าใกล้ความพินาศไปทุกที สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกที่ มนุษย์ทำลายโลกไป พร้อม ๆ กับใช้ประโยชน์จากโลกเพื่อยังชีวิตของเรา”
แน่นอนว่า การมอบรางวัล ไม่ได้หมายความถึงการนำรางวัลไปล่อใจ แต่รางวัลนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จในด้านการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมนั้น มีตัวอย่างให้เห็นที่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่ง ดร.สุเมธ เห็นว่า รางวัลนี้มีความสำคัญมาก จนกระทั่งอยากใช้คำว่า “รางวัลแห่งความอยู่รอดของมนุษย์” ด้วยซ้ำไป ไม่ใช่แค่ยุคปัจจุบัน แต่ลูกหลานในอนาคตก็จะได้รับประโยชน์จากพลังของการดูแลสิ่งแวดล้อมของคนทั้งหมดที่ได้รับรางวัลที่ผ่านมาและในครั้งนี้ด้วย
“ผมขอชื่นชมและขอบคุณผู้ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นรางวัลประเภทใด เราสำนึกในบุญคุณที่ท่านทำมาอย่างยิ่ง ท่านกำลังกู้ชาติกู้แผ่นดิน กู้ประเทศอยู่ด้วยซ้ำไปนะครับ พวกท่านได้อุตสาหะ เสียสละ อุทิศกายและใจ ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ยิ่งในสถานการณ์ที่โลกรวน และภัยธรรมชาติอันเลวร้าย ผลงานทั้งหลายนี้ แสดงให้เห็นถึงทางออก ทางรอด และความหวัง ช่วยจุดพลังเปลี่ยนโลก” ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวแสงความยินดีและชื่นชมผู้ได้รับรางวัล
ในขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานสถาบันลูกโลกสีเขียวมาตั้งแต่เริ่มต้น นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แปรปรวนและมีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต
“ดังนั้น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษมาแล้วที่สถาบันลูกโลกสีเขียวได้ทำหน้าที่ค้นหา ยกย่อง ชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้แก่บุคคล กลุ่มคน ชุมชน ที่ได้แสดงพลังในการดูแลโลก รักษาสิ่งแวดล้อม และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ผ่านการมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว โดยมีผลงานอันทรงคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติที่เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้วกว่า 800 ผลงาน และปีนี้มีเพิ่มอีก 44 ผลงาน”
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่น่าขอบคุณอย่างยิ่งที่เครือข่ายลูกโลกสีเขียวทุกท่านได้มุ่งมั่นทุ่มเท เป็นพลังสำคัญ ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่เรามุ่งมั่นปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานที่เรียกว่า 3 เร่ง คือเร่งปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น พลังงานสะอาด รวมถึงธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน และ เร่งปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนไทย ช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และประสานความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มพื้นที่ป่า รวม 2 ล้านไร่
“เราหวังว่า การดำเนินงานต่าง ๆ จะช่วยแก้ไขและร่วมบรรเทาวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น และทำให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมาย ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เช่นกัน” นายอรรถพล กล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงปีที่ 21 ใน พ.ศ.นี้ การประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียว ยังคงความต่อเนื่องในการประกวดรางวัลสร้างสรรค์ภายใต้หัวข้อ “วิถีพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน ดิน น้ำ ป่า” อันเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานที่น้อมนำแนวพระราชดำริที่ทรงคุณค่ามาใช้ในการพิจารณาผลงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งองค์ความรู้จากผลงานที่ได้รับรางวัล ยังสามารถนำไปขยายผล เพื่อการศึกษา ต่อยอด และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ
ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวในปี 2566 ภายใต้แนวคิด “จุดพลังเปลี่ยนโลก” นี้ นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ประธานคณะกรรมการประเมินคุณค่าผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 กล่าวถึงภาพรวมของผลงานที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ว่า ทำให้มองเห็นพลังในการฟื้นฟูปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรม พื้นที่ ท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วม โดยผลงานที่ได้รับรางวัลสามารถสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่า การดูแล อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น จะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนและสังคมได้ สถาบันลูกโลกสีเขียวได้มองเห็นพลังที่จะดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป
โดยรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 นี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน ประกอบด้วยรางวัลประเภทชุมชน 8 ผลงาน รางวัลประเภทบุคคล 3 ผลงาน รางวัลประเภทกลุ่มเยาวชน จำนวน 8 ผลงาน รางวัลประเภทงานเขียน 3 ผลงาน รางวัลประเภทความเรียงเยาวชน 8 ผลงาน รางวัลประเภทสื่อมวลชน 1 ผลงาน และรางวัลประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน 13 ผลงาน โดยผลงานทั้งหมด สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัว ปรับเปลี่ยน และจัดการกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน (ดูรายละเอียดผลรางวัลทั้งหมดได้ที่ https://www.greenglobeinstitute.com/Frontend/AwardList)
นายคณาธิป บัวคำภู ตัวแทนกลุ่มเยาวชนสร้างป่าเปียกด้วยฝายสร้างรายได้สู่ชุมชน โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับรางวัลประเภทกลุ่มเยาวชน ได้กล่าวแสดงความรู้สึกว่า รางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นรางวัลที่ทรงคุณค่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ รางวัลลูกโลกสีเขียวทำให้ได้ตระหนักว่า การที่เราทำเพื่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แม้ว่าสิ่งที่ทำนั้น คนอื่นจะไม่เห็น แต่ก็ยังมีหน่วยงานเห็นสิ่งที่เราทำ
“ต้องขอบคุณสถาบันลูกโลกสีเขียวนะครับที่ได้มอบรางวัลนี้ให้กับทุกคน ผมเชื่อว่า การที่จะได้รางวัลนี้มา ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความทุ่มเท ความเสียสละ อุทิศแรงกายแรงใจ เต็มเปี่ยมไปด้วยทุกอย่างที่มาจากข้างในจริง ๆ ต้องเป็นผลงานที่ประจักษ์ สร้างสรรค์สังคม ผมขอยกย่อง เชิดชูเกียรติ ทุกผลงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ขอยินดีกับทุกท่านด้วยครับ และต้องขอขอบคุณสถาบันลูกโลก ที่ได้สร้างสรรค์รางวัลนี้ขึ้น เพื่อที่จะยกย่อง เชิดชูเกียรติทุกคนที่ทำเพื่อสังคม ทำให้ทุกคนได้รู้ว่า คนทำดี ต้องได้ดี เมื่อทำเพื่อสังคม สิ่งที่ได้รับกลับมา ถึงวันนี้จะไม่ได้รับ แต่ภายภาคหน้า สิ่งที่เราทำ จะย้อนคืนสู่ตัวเราเอง ขอบคุณที่สร้างแรงบันดาลใจ ขอบคุณที่สร้างคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับทุกคนครับ” นายคณาธิป กล่าวด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ