xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโจทย์ใหญ่! เศรษฐกิจไทยรอคิวรัฐบาลใหม่แก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การจัดตั้งรัฐบาลของไทยยังคงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากโหวตมา 2 รอบแล้วก็ยังไปไม่ถึงฝั่ง และล่าสุดยังต้องรอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมมติสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ครั้งที่ 2 เป็นการยื่นญัตติซ้ำ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่…ขั้นตอนทางการเมืองก็ว่ากันไป แต่ภาคเอกชนและประชาชนส่วนใหญ่เองก็คงต้องการให้จบโดยเร็ว มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเพื่อมาเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนโดยเฉพาะปากท้องประชาชนให้ต่อเนื่อง...

ทั้งนี้ หากล่าช้าออกไปย่อมจะกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ช้าตามไปด้วย ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่วันนี้จำเป็นต้องหาเชื้อไฟมาเติมเพื่อป้องกันเครื่องยนต์ ศก.ดับอย่างเร่งด่วน ด้วยเพราะเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ที่ยังคงต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงจากมาตรการแซงก์ชันรัสเซียที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัด และสหรัฐฯ ยังมีปัญหาสะสมในเรื่องของหนี้สินที่เพิ่มพูนถึง 32 ล้านล้านเหรียญสหรัฐยิ่งทำให้การแก้ไขยังไม่รู้จะไปในทางใดแน่ แม้แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังโตไม่ได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้

เมื่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว ก็ย่อมสาหัสไม่แพ้กัน โดยเริ่มออกอาการให้เห็นชัดๆ จากภาคส่งออกที่ตัวเลขเดือนมิ.ย. 66 ติดลบต่อเนื่อง และ 6 เดือนติดลบ 5.4% สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อทั่วโลกที่ถดถอยตามทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัวนั่นเอง..... และเมื่อชำแหละดูทิศทางการค้าตามแนวชายแดนเพื่อนบ้าน หรือตลาดอาเซียนที่ไทยส่งออกไปแบบชิลๆ มาตลอดยังเริ่มชะลอตัวจึงถือเป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก ขณะที่ท่องเที่ยวไทยที่เป็นความหวังแม้จะทยอยฟื้นตัวแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีนก็เริ่มฉายแววว่าจะไม่ถึงเป้าหมาย 5 ล้านคนที่ตั้งไว้และหากการเมืองไทยมีการลงถนนอาจซ้ำเติมในช่วงไฮซีซันในปลายปีให้ลดต่ำลง
เอกชนมองส่งออกไทยปีนี้อยู่ในแดนลบ

เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เป็นพระเอกมาต่อเนื่องแม้แต่ในช่วงโควิด-19 แต่บัดนี้กำลังนับถอยหลังดับลง โดยภาคเอกชนทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ล่าสุดประชุมเมื่อ 7 ก.ค.ต้องปรับคาดการณ์ส่งออกปี 2566 จากเดิมโต 0% ถึง -1% มาเป็นโต 0% ถึง -2% และหากถามเจาะลงไปทุกคนล้วนยอมรับว่าส่งออกมีแนวโน้มไปในแดนลบมากกว่าเมื่อดูตัวเลขส่งออก 5 เดือนแรกที่ติดลบต่อเนื่องแม้จะลดลงแต่ที่เหลือโอกาสที่จะทำให้เป็นบวกนั้นค่อนข้างน้อย

อุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกที่ลดลงส่งผลให้หลายโรงงานลดกะทำงาน งดทำงานล่วงเวลา โดยแต่ละส่วนพยายามประคองธุรกิจเอาไว้เพื่อหวังว่าออเดอร์จะกลับมาปลายปีที่เป็นช่วงไฮซีซันเพราะจะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ารองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ขณะที่การผลิตของผู้ที่ป้อนตลาดส่งออกและจำหน่ายในประเทศยอดขายในประเทศก็เผชิญกับแรงซื้อประชาชนที่ถดถอยเช่นกัน...หากเศรษฐกิจโลกและไทยยังคงชะลอตัวแน่นอนว่าที่สุดธุรกิจที่สายป่านสั้นก็อาจจะต้องถอดใจได้เช่นกันจึงต้องระวังในจุดนี้…

หนี้ครัวเรือนสูง-ดบ.ขาขึ้นระเบิดเวลาศก.ไทย
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับนิยามของหนี้ครัวเรือนใหม่โดยเพิ่ม 4 กลุ่มสำคัญเข้าไปเพื่อให้มีความครอบคลุมของหนี้คนไทยมากขึ้น ทั้งกลุ่มหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.83 แสนล้านบาท การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท พิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบาท และสหกรณ์ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.65 แสนล้านบาท ทำให้หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกปี 66 ขยับเพิ่มขึ้นถึง 7.66 แสนล้านบาท ดันยอดคงค้างไปแตะระดับ 15.96 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP บ่งชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางเศรษฐกิจไทย

ส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ที่สะสมต้องยอมรับว่าเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้คนตกงาน ธุรกิจเจ๊ง และต่อมาพอจะฟื้นตัวก็ถูกซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ราคาพลังงานและสินค้าต่างๆ ขยับขึ้นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก รวมถึงไทยเมื่อเทียบกับรายได้ยังคงไม่พอใช้ ...แต่อีกส่วนไม่อาจปฏิเสธที่คนไทยใช้เงินเกินตัวประเภทของต้องมี ทำให้ขาดวินัยทางการเงิน ทำให้ ธปท.ถึงกับต้องออกมาส่งซิกให้แบงก์ต่างๆ ยึดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เช่น ผู้ให้บริการสินเชื่อ และธนาคารต้องไม่โฆษณากระตุ้นการกู้จนเกินตัว ให้ข้อมูลครบถ้วน กระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยการเงิน ฯลฯ ..

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงยังจะถูกซ้ำเติมจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นที่สะท้อนหลังตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะฉุดกำลังซื้อของคนไทยมากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยถึงขั้นที่จะหมดยุคดอกเบี้ยคงที่ หลังมีหลายแบงก์ออกมาเปรยจะถอดโปรโมชันดอกเบี้ยคงที่ออก หันไปใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR) แทน ขณะที่รถยนต์รอถูกยึดเป็นล้านคัน ... ปัจจัยนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่ว่ากันว่ามีอีกเพียบการแก้ไขปัญหาหนี้ภาพรวมจึงนับเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาลใหม่เลยทีเดียว


เตรียมรับภัยแล้งส่อลากยาว 4-5 ปี

อีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเกิดอย่างเต็มตัวปลายปี 2566-2570 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 20% ซึ่งทำให้ไทยเกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงยาวนาน 4-5 ปี โดยปฐมบทเริ่มขึ้นบางส่วนในปีนี้แล้วแต่ด้วยเพราะเรายังมีน้ำต้นทุนที่สะสมไว้ ดังนั้นหากแล้งต่อเนื่องและไม่มีแผนจัดการที่ดีพอในการรับมือ วิกฤตจริงจะเป็นปี 2567 ซึ่งภาคเอกชนค่อนข้างเป็นกังวลด้วยเพราะอดีตนั้นภัยแล้งได้กระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ...และที่สำคัญคือซ้ำเติมกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศเพราะราคาสินค้าภาคเกษตรที่เป็นสินค้าบริโภคและยังเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารต่างๆ จะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ลดลงดูจะไม่คุ้มค่ากัน

ไม่เพียงภาคเกษตร แม้แต่ภาคการผลิตภาคเอกชนโดย "กกร." เองยังวิตกเพราะหากมีปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมจะยิ่งกระทบมากขึ้นจึงต้องทำหนังสือเร่งด่วนส่งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ให้มอบหมายฝ่ายราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือ ... และแน่นอนว่าประเด็นนี้ทางเอกชนก็ยอมรับว่าเตรียมจะเสนอรัฐบาลใหม่อีกระลอก

ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าแม้มีโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้้าตามแผนแม่บทของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) แล้วแต่ภัยแล้งครั้งนี้อาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3 ปีและในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องเตรียมการเพิ่มเติม ดังนี้ ระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1. ควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 2. เร่งผันน้ำเพื่อเก็บสำรองเพิ่ม 3. เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำ ส่วนระยะยาว ได้แก่ 1. เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่นคลองวังโตนด 2. ทบทวนแผนบริหารจัดการทรัพยาน้ำ 20 ปี

ภาคเอกชนชี้ช่องรัฐบาลใหม่ลดรายจ่าย ปชช.

แน่นอนว่าสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านคงจะเป็นเรื่องแรกๆ ซึ่งก็คือการลดรายจ่ายแทนที่จะมองในการเพิ่มรายได้ด้วยการขึ้นค่าจ้างแบบกระชากที่จะได้ไม่คุ้มเสีย นั่นรวมถึงต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมเพราะมีผลต่อระดับราคาสินค้าที่สุดท้ายจะส่งต่อไปยังผู้บริโภคนั่นเอง ....โดยเป้าหมายใหญ่หนีไม่พ้นราคาพลังงาน ...เนื่องจากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งพรวดแม้ว่าไทยจะมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลดีเซลที่เป็นน้ำมันเศรษฐกิจแต่ก็ไต่ระดับไปสูงจนแตะ 35 บาทต่อลิตรจนมารักษาระดับในขณะนี้ที่ 32 บาทต่อลิตรโดยรัฐต้องควักเงินอุดหนุนเพิ่มหลังจากสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตเมื่อ 20 ก.ค. 66

เช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ปรับมาอยู่ในระดับ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จาก เม.ย. 65 ที่อยู่ระดับ 333 บาทต่อถัง รวมระยะเวลาเพียงปีเศษๆ LPG ทยอยขึ้นไปแล้วรวม 105 บาทต่อถังกันเลยทีเดียว...ทำให้ภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 23 ก.ค. 66 มีฐานะติดลบ 48,477 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันลบ 3,124 ล้านบาท และ LPG ลบ 48,477 ล้านบาท

ด้านค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับ 4.70 บาทต่อหน่วย (งวด พ.ค.-ส.ค. 66) และงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) กกร.ได้ชี้ให้เห็นปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณที่จะสามารถกดลงมาเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วยได้... เหล่านี้เอกชนได้ตอกย้ำเสมอว่าโครงสร้างราคาพลังงานของไทยยังเป็นปัญหา ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรจะตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กรอ.พลังงานเพื่อดึงเอกชนเข้าไปร่วมแก้ไขด้วย …งานนี้ รมว.พลังงานคนใหม่งานเข้าเต็มๆ เพราะใกล้สิ้นปีที่โลกตะวันตกกำลังเข้าฤดูหนาวที่ราคาพลังงานจะเป็นช่วงขาขึ้นพอดี

ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังชี้ช่องในเรื่องของการดูแลราคาสินค้าที่เป็นปัญหาเงินเฟ้อ โดยระบุว่าปี 2565 ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6.08% จากราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบมายังสินค้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และปี 2566 เงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับลดลงแต่ราคาอาหารสำเร็จรูป (Food in Core inflation) ยังอยู่ในระดับสูงกดดันภาวะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงสูงแม้ราคาพลังงานจะทยอยลดลงก็ตาม ดังนั้นจึงมีข้อเสนอ 1. รัฐควรเข้ามาดูแลราคาสินค้าและต้นทุนในการดำรงชีพ 2. ทบทวนปรับปรุงกลไกเงื่อนไขของรายการสินค้าควบคุม 3. ดูแลต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ และแนวทางนี้จะมีการเสนอรัฐบาลใหม่ประกอบด้วย

นี่เป็นเพียงประเด็นหลักๆ ที่เอกชนเตรียมพร้อมนำเสนอการบ้านยื่นให้กับรัฐบาลใหม่แก้ โดยเฉพาะเวที "กกร." ได้ทำสมุดปกขาวยื่นให้พรรคการเมืองไปแล้วช่วงหาเสียงและแน่นอนว่าจะมีการยื่นเสนอต่อรัฐบาลใหม่ตอกย้ำอีกครั้งซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข และภาคส่วนอื่นๆ ก็คงต้องดาหน้าเข้าเสนอเช่นกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 66 ที่เหลือเวลาอีกไม่มากนัก...

ท่ามกลางโลกที่ยังคุกรุ่นจากไฟสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป...ไทยในฐานะประเทศเล็กๆ แต่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้..รัฐบาลใหม่จึงต้องรับมือกับแรงกระแทกสารพัดที่จะเข้ามารุมเร้าทั้งมรสุมลูกเก่าที่สร้างปัญหาไปแล้วรอให้แก้ และลูกใหม่ที่กำลังจะมา...ก็ได้แต่หวังว่าคนไทยจะได้รัฐบาลใหม่ที่มองประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น