ทอท.เปิดผลสอบข้อเท็จจริง เหตุทางเดินเลื่อนสนามบินดอนเมืองทรุดตัวจากปัญหาแผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึด ชี้ขั้นตอนเช็กอุปกรณ์บกพร่อง วิศวกรรับรองขาดคุณสมบัติ ด้านบอร์ด ทอท.สั่งเด้ง ผอ.ดอนเมือง ให้มีผล 1 ต.ค. 66
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอุบัติเหตุทางเลื่อนของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมืองจนทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสว่า อุบัติเหตุเกิดที่ทางเลื่อน บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4-5 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อเวลาประมาณ 08.21 น.ของวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ซึ่ง ทอท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ข้อสรุปสาเหตุจากพยานหลักฐานที่ปรากฏข้อเท็จจริง พบว่าทางเลื่อนที่เกิดเหตุมีปัญหาที่แผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ผู้โดยสารหล่นลงไปได้รับบาดเจ็บสาหัส
ผลการตรวจสอบมีความชัดเจนว่าเกิดจากความบกพร่องของตัวระบบ มีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการ ขั้นตอนในการ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางเลื่อนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดย ทอท.จะต้องปรับปรุงทั้งในส่วนของผู้ให้บริการอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ ทอท.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการ
นายกีรติกล่าวว่า ทอท.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สาเหตุที่เกิดขึ้น และรับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาลและเยียวยา ผู้เสียหาย ส่วนกรณีมีเจ้าหน้าที่หรือผู้ดำเนินการที่บกพร่อง ทำการประมาท จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารได้รับอุบัติเหตุ บาดเจ็บสาหัสและทุพพลภาพ จะมีผู้ใดต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ ทอท.ยืนยันว่ามีการตรวจสอบอุปกรณ์ทางเลื่อนทุกวัน ซึ่งขัดแย้งกับที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถือเป็นการโกหกหรือไม่ นายกีรติกล่าวว่า ตามข้อกำหนดให้มีการตรวจสอบด้วยสายตา (Visual Inspection) ทุกวัน ซึ่งพบว่ามีข้อบกพร่อง ไม่ได้ตรวจสอบครบถ้วนจริง ดังนั้น ถือเป็นความบกพร่องของผู้รับจ้าง และเจ้าหน้าที่ ทอท.ในฐานะผู้กำกับสัญญา
@พบวิศวกรขาดคุณสมบัติรับรองการตรวจสอบอุปกรณ์
เรืออากาศเอก ธรรมาวุธ นนทรีย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า แผ่นพื้นทางเลื่อนที่เกิดเหตุหลุดออกจากโครงยึด ทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ขาผู้โดยสารตกลงไป ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งตั้งแต่ปี 2530 ใช้มา 28 ปีแล้ว มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2558 โดยมีผู้ว่าจ้างเป็นตัวแทนของบริษัททางเลื่อนโดยตรง และที่ผ่านมาในรายงานซ่อมบำรุงมีการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ แต่ไม่ได้ระบุว่ามีการเปลี่ยนแผ่นพื้นและตัวนอตยึดแผ่นพื้น ซึ่งตัวนอตไม่พร้อมใช้งาน เกลียวไม่มี และทางเลื่อนนี้มีเซ็นเซอร์ 5 ชนิด แต่กลับไม่มีเซ็นเซอร์ที่ป้องกันหากเกิดกรณีแผ่นพื้นหลุด
ขณะที่ในสัญญา กำหนดให้มีการตรวจ และจัดทำรายงานรับประกันความปลอดภัย ลิฟต์ บันไดเลื่อน ทางเลื่อนทุกปี ปีละครั้ง ตรวจสอบโดยวิศวกรเครื่องกล การตรวจล่าสุดคือวันที่ 17 มีนาคม 2566 แต่พบว่าผู้ตรวจสอบที่รับรองไม่มีคุณสมบัติตรวจตามข้อกำหนด เพราะเป็นวิศวกรระดับภาคี ไม่ใช่ระดับสามัญตามสัญญาจ้าง และตามที่วิศวกรรมสถานฯ กำหนด ดังนั้น นอกจากสาเหตุจากอุปกรณ์แล้ว สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากการตรวจสอบที่ไม่ครบถ้วนของวิศวกรที่ขาดคุณสมบัติ
โดยคณะกรรมการฯ ได้เสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้อุปกรณ์ทางเลื่อนของสนามบินดอนเมือง ได้แก่ การฟื้นฟูความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์ โดยการตรวจสอบแผ่นทางเลื่อน โครงสร้างของแผ่นทางเลื่อน ทุกอุปกรณ์ โดยการจ้างหน่วยงานหรือบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อนมาดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐาน EN115-2 ใน version ล่าสุด
เช่น การติดตั้งตัวตรวจจับกรณีแผ่นทางเลื่อนหายไป การตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางเลื่อน การติดตั้งกล้อง CCTV ประจำทางเลื่อน รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก (External Audit) ของระบบการบำรุงรักษาของอุปกรณ์เครื่องกลของท่าอากาศยาน เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องของการบำรุงรักษาของท่าอากาศยาน ตลอดจนการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคลากรและการปรับปรุงคู่มือและขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย
โดยในช่วงระยะเวลา 22 วันของการดำเนินการ คณะกรรมการฯ ได้จัดการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. การสอบประวัติทางเลื่อนที่เกิดเหตุ 2. การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 3. การสำรวจพื้นที่ 4. การตรวจสอบด้านวิศวกรรมเครื่องกล อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัย 5. การตรวจสอบข้อมูลจากการให้ถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้อง 6. การตรวจสอบการบำรุงรักษาตามสัญญาจ้าง และสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 7. การทดสอบต่างๆ เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน (ถ้ามี) 8. การตั้งสมมติฐาน และ 9. การสรุปสาเหตุ และการถอดบทเรียน
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาพยานวัตถุจำนวน 10 รายการ พิจารณาพยานเอกสารจำนวน 23 รายการ และพิจารณาข้อมูลจากการให้ถ้อยคำของผู้เกี่ยวข้องจำนวน 34 ราย
@เด้ง ผอ.ดอนเมืองเข้ากรุ มีผล 1 ต.ค.
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 โดยมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน ได้มีมติแต่งตั้ง โยกย้าย พนักงาน ทอท.ระดับสูง จำนวน 27 คน ซึ่งมีรายชื่อ นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษา ทอท. และโยกย้ายนายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง แทน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป