บอร์ด รฟท.เคาะเพิ่มทางเลือกให้ รพ.ศิริราชจ่ายค่าเช่าที่ดิน "สถานีธนบุรี" จากรายปีเป็นงวดเดียว คิดมูลค่าที่ 161 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาอาคารรักษาพยาบาลและสถานีเชื่อมรถไฟฟ้า "สีแดง-สีส้ม" คาดลงนามสัญญาเช่าได้ใน ก.ย. 66
นางสาวมณฑกาญจน์ ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบการปรับวิธีจ่ายค่าเช่าที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณสถานีธนบุรี ซึ่งเป็นการทบทวนมติบอร์ดรฟท.เดิม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 จากเดิม รฟท.คิดค่าเช่าที่ดินเป็นรายปี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ รฟท. และได้ตกลงร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ต่อมามีการประชุมร่วมกัน โดย รพ.ศิริราชขอปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าเช่าที่ดินจากรายปีเป็นงวดเดียว เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ในการไปดำเนินการจัดทำงบประมาณของ รพ.ศิริราช
ทั้งนี้ รพ.ศิริราชจะเช่าที่ดินของ รฟท.บริเวณสถานีธนบุรี จำนวน 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) เพื่อดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีระยะเวลาเช่า 30 ปี อัตราค่าเช่า 50 ล้านบาทต่อปี ปรับขึ้น 3% ต่อปี โดยคิดมูลค่าปัจจุบัน กรณีชำระครั้งเดียวเป็นเงินประมาณ 161 ล้านบาท
“หลังจากนี้จะแจ้งมติบอร์ด รฟท.ให้ศิริราชฯ รับทราบว่าเปิดทางเลือกให้สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินงวดเดียวได้ด้วย ซึ่งทางศิริราชฯ จะสรุปเพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกันต่อไป ซึ่ง รฟท.คาดว่าจะเร่งทำร่างสัญญา และลงนามการเช่าที่ดินได้ภายในเดือน ก.ย. 2566 เพื่อให้ทางศิริราชฯ นำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.ไปใช้ประกอบการเสนอของบประมาณประจำปี 2568” นางสาวมณฑกาญจน์กล่าว
สำหรับโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 งบประมาณรวม 3,851.27 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบฯ บุคลากร 113.01 ล้านบาท
ก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รวมความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น 1. พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร 2. พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ 3. พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 79 คัน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือนรวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี
มีการพัฒนาจุดเชื่อมโยงการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบริเวณโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 2 สถานี คือ สถานีศิริราช รถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. และสถานีธนบุรี-ศิริราช รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของ รฟท. เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย