xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ จ่อชง ครม.ผุดมาตรการใหม่หนุนอุตฯ ชีวภาพ ดึงลงทุน 1.9 แสนล้านปั้นไทยฮับภูมิภาคปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.สรุปผลการหารือร่วมรับและเอกชน 20 หน่วยงานเตรียมเสนอมาตรการใหม่เพิ่มเติมในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 61-70 ระยะครึ่งแผนหลังเพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น หลังพบมาตรการเดิมบางส่วนยังมีอุปสรรคทำให้การลงทุนชะลอ พร้อมชงจัดตั้ง One Stop Service เสนอ ครม.เร็วๆ นี้ เดินหน้าผลักดันประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 สร้างเม็ดเงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาท

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะรายงานความก้าวหน้าการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาค (Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570) พร้อมกับเสนอมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้นโยบายภาพรวมชัดเจนและสมบูรณ์มากขึ้น รวมถึงเสนอจัดตั้ง One Stop Service อุตสาหกรรมชีวภาพศูนย์กลางในการประสานงานให้แก่นักลงทุน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนในปี 70 อย่างน้อย 190,000 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 85,000 บาทต่อปี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรอย่างน้อย 800,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ ครม.เมื่อ 17 ก.ค. 61 ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ. 2561-70 โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายซึ่งก็เดินมาครึ่งแผนแล้ว และเมื่อ 6 ก.ค. 66 สศอ.ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนได้หารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งรัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับทราบอุปสรรคต่อการลงทุน ผลการหารือสรุปได้ว่า ภาครัฐควรดำเนินการจัดตั้ง One Stop Service ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน อำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนให้นักลงทุนที่สนใจ เช่น การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการในอุตสาหกรรมชีวภาพ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การยื่นขอสนับสนุนจากภาครัฐทางด้านภาษีหรือการลงทุน หรือการขอรับการทดสอบหรือออกใบรับรองให้กับผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ อาทิ การขอรับการทดสอบ และใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

นางวรวรรณกล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานที่ผ่านมารัฐมีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเพื่อเอื้อต่อการลงทุนหลายด้าน เช่น ปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้สามารถตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบภายในระยะ 50 กิโลเมตรได้ 2. เพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อแยกอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 3. การแก้ไขผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ และลพบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนตามมาตรการเดิมหลายโครงการได้เปลี่ยนแผนการลงทุนหรือชะลอการลงทุนออกไป สาเหตุจากประสบปัญหาและอุปสรรคบางประการ

อีกทั้งยังพบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มเติมจากมาตรการฯ ซึ่งควรจัดกลุ่มอุตสาหกรรมใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้การกำหนดมาตรการสนับสนุนในแต่ละกลุ่มชัดเจนขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม (Niche Product) ที่ต่อยอดจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นตลาดทั่วไป (Mass Market) และแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่, SMEs และกลุ่ม Start up รวมถึงเชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหารเสริม อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ทั้งนี้ คาดว่ามีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น