xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ติดเครื่องลุยตลาดEV-Life Science สานเป้าปี73เพิ่มสัดส่วนกำไรกว่า30% จาก “Future Energy & Beyond”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กำลังเป็นที่จับตามองธุรกิจใหม่ของปตท. ภายใต้วิสัยทัศน์ "Powering Life with Future Energy and Beyond" หรือ "ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต" ที่ใกล้จะอวดโฉมโดยเฉพาะโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(EV) โรงงานแบตเตอรี่ ฯลฯท่ามกลางตลาดการแข่งขันที่รุนแรงบรรดาค่ายยักษ์ใหญ่จากจีนปักหมุดตั้งโรงงานรถEVในไทย ซึ่งตลอดช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา ปตท.อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมาก รวมถึงสรรพกำลังเพื่อเดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายว่าในปี2573 เพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจกลุ่ม Future Energy & Beyondให้มากกว่า 30%

นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนสู่ธุรกิจใหม่นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของปตท.และเป็นสิ่งท้าทาย เพื่อมุ่งสู่ New Growth โดยซีอีโอ ปตท. “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” วางเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจกลุ่ม Future Energy & Beyond ให้มากกว่า 30% ในปีค.ศ.2030 หรือปีพ.ศ. 2573 ยังมีเวลาอีก7-8ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยธุรกิจใหม่จะมีผลตอบแทนหรือขาดทุนไม่เกิน 3-5ปี และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม


สำหรับธุรกิจใหม่ที่อยู่ภายใต้พอร์ตสายงานนวัตกรรม และธุรกิจใหม่ที่ดูแลรับผิดชอบนั้น ประกอบด้วย 4 ธุรกิจภายใต้ Future Energy (พลังงานแห่งอนาคต) คือ พลังงานหมุนเวียน(Renewable ),ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage &System Related),ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (Electricity Value Chain)และ ไฮโดรเจน (Hydrogen)ส่วน Beyond (ธุรกิจใหม่ที่ไกลพลังงาน) ที่อยู่ภายใต้การดูแล มี 2 ธุรกิจ คือ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารเพื่อสุขภาพ และ ธุรกิจระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitization ) เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ได้ในอนาคต ซึ่งธุรกิจใหม่เหล่านี้ ปตท.วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรราว 15%ในปี2573หรือคิดเป็น50%ของเป้าหมายFuture&Beyond

ส่วนสัดส่วนกำไรที่เหลืออีก 15% เป็นธุรกิจใหม่ภายใต้Beyond ที่บริษัทในกลุ่มปตท. เป็นผู้รับผิดชอบ อาทิ ธุรกิจเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) จากบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น , ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ของบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR )และธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ( Logistics & Infrastructure)ของบริษัทลูกปตท.


ปี66 อินโนบิกมั่นใจกำไรโตต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด แกนหลักธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science)เริ่มมีกำไรสุทธิ 660 ล้านบาท มาจากผลประกอบการที่ดีของบริษัทโลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ที่อินโนบิกถือหุ้นใหญ่ 37% เชื่อว่าในปีนี้ อินโนบิกจะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากโลตัส ฟาร์มาซูติคอลทำรายได้ในไตรมาส 1/2566 ราว 5,500 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน รวมทั้ง อินโนบิกร่วมกับพันธมิตรออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “อินโนบิก โปร เบต้า-กลูแคน พลัส (Innobic Pro Beta-Glucan+)”และ”อินโนบิก โพรไบโอติกส์ จีดี (Innobic Probiotics GD)” ออกสู่ตลาดเมื่อต้นปี2566 จำหน่ายที่Lab Pharmacy ทุกสาขาและช่องทางออนไลน์ ล่าสุดเตรียมเพิ่มช่องทางจำหน่ายในร้านบู๊ทส์และร้านวัตสันด้วย รวมทั้งบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งน้ำเชื่อมหญ้าหวาน Natural Nxt ขนมกัมมี่กลิ่นรสตรีผลาและโคล่า (Gummy Triphala & Cola flavours) และเครื่องดื่มโปรตีนสูตรจากพืช

นอกจากนี้ยังรับรู้รายได้จากการร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร( Plant-based ) คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส3/2566 ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าในต่างประเทศเพื่อรับจ้างผลิตPlant-basedเพื่อส่งออก โดยวางแผนการตลาดผลิตเพื่อส่งออกราว 80-90%ของกำลังการผลิตรวม 3พันตัน/ปี ที่เหลือรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆในไทย

ส่วนความคืบหน้าในการจับมือกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.)เดินหน้าตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง และโรงงานผลิตสารตั้งต้นยา(API) คาดว่าผลการศึกษามีความชัดเจนภายในสิ้นปี2566 โครงการดังกล่าวช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสมจากเดิมที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้ยามีราคาแพง

กลุ่มFuture Energy ในปีนี้ฉายแววโดดเด่นโดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (Electricity value chain)ที่มีบริษัทลูกปตท.อย่าง”อรุณ พลัส”เป็นแกนนำ มีความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตรถEV และโรงงานแบตเตอรี่ ที่เตรียมทยอยผลิตเชิงพาณิชย์ในปลายปี2566-67 ส่วนการให้บริการเช่าใช้รถ EV ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ภายใต้การบริหารของบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme Plus) ได้รับความนิยมใช้บริการมาก จึงบริษัทเตรียมเพิ่มจำนวนรถEVให้เช่าจากปัจจุบันมี 700คันขยับเป็น 2,000 คันในปลายปีนี้ เน้นการให้บริการเช่าแบบB2B ระยะยาว ส่วนB2C ก็มีการให้บริการเช่าเช่นกัน พร้อมจัดทำแผนงาน ROSE เพื่อให้บริการการซื้อขายรถEVผ่านแพลตฟอร์มEVme ด้วย ขณะเดียวกันเร่งขยายสถานีชาร์จEVทั้งนอกและในสถานีบริการน้ำมันPTT Station ครอบคลุมทั่วประเทศ


จีบค่ายรถเพื่อผลิตป้อนEVทำตลาดในไทย

โรงงานผลิตรถEV ของบริษัทร่วมทุน “ ฮอริษอน พลัส “ ระหว่างอรุณ พลัส ถือหุ้น60%กับบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด บริษัทในกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ปถือหุ้น40%นั้น การก่อสร้างโรงงานมีความคืบหน้าไปแล้ว 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี2566 และผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปีถัดไป ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบรรดาค่ายรถทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและยุโรป ที่ต้องการเข้ามาทำตลาดรถEVในไทยและอาเซียนแต่ยังไม่ต้องการตั้งโรงงานผลิตเองในช่วงแรกก็ว่าจ้างให้ฮอริษอน พลัสผลิตรถEVแทน แม้ว่าปัจจุบันค่ายรถจากจีนแห่ลงทุนตั้งโรงงานผลิตEVในไทยทำให้ตลาดEVเป็นRed Ocean แต่เราเชื่อมั่นว่าสามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจาก Foxconn มีความเชี่ยวชาญด้านOEM และเก่งด้านอิเล็กทรอนิกส์ มีความยืดหยุ่นในการออกแบบและผลิตได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ โรงงานผลิตรถEV มีมูลค่าการลงทุนรวม 36,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี แบ่งเป็นการผลิตในเฟสแรกจำนวน 50,000คัน/ปี ใช้เงินลงทุนราว 24,000ล้านบาท และเฟสที่ 2 จะใส่เงินทุนที่เหลืออีก12,000 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังผลิตรถEVเพิ่มเป็นปีละ 150,000คัน ตอบสนองความต้องการของตลาดอีวีในภูมิภาคนี้ที่เพิ่มขึ้นภายในปี 2573

จับมือ Gotion-CATLผลิตแบตเตอรี่ป้อนรถEVทุกประเภท

ส่วนธุรกิจแบตเตอรี่ เราได้จับมือกับผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก2ราย เพื่อรองรับEV ทุกประเภทตามความต้องการของลูกค้า โดยได้ร่วมทุนกับ Gotion High-tech ตั้งบริษัทเอ็นวี โกชั่น จำกัด(NV Gotion) ดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคุณภาพสูง สร้างโรงงานเสร็จภายปลายปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568

นอกจากนี้ อรุณพลัสจับมือกับ บริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) เงินลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี


ปตท.เล็งปรับเป้าRenewable มากกว่า1.2GW

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable)ในไตรมาส2 ปีนี้ Avaada Energy Private Limited (AEPL) ซึ่งบริษัท โกลบอลรีนิวเอเบิลซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC)บริษัทย่อยของGPSC ถือหุ้นอยู่ ได้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียรวม 6โครงการคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,793เมกะวัตต์ส่งผลให้ ทำให้ APEL มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,720เมกะวัตต์ ส่งผลให้บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นอย่างมีนัยะ ล่าสุดบอร์ด GPSC ได้อนุมัติขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในAEPLให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) และการชำระหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 42.93 ใน AEPL ผ่านบริษัทย่อยที่GPSCถือหุ้น100% คิดเป็นมูลค่ารวม 8,625 ล้านบาท โดยจะชำระเงินเพิ่มทุนครั้งแรกช่วงกรกฎาคมนี้ราว 3,892 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ดังนั้น ปตท.เตรียมเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ หรือ12 กิกะวัตต์(GW) โดยจะลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลงต่ำกว่า 8,000 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับเป้าหมายNet Zeroในปี ค.ศ. 2050

สำหรับธุรกิจไฮโดรเจน ถือเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่ทั่วโลกรวมถึงปตท.ให้ความสนใจ ปัจจุบันปตท. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) บริษัทพลังงานจากซาอุดิอาระเบีย ศึกษาเบื้องต้นในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปี 2566ยอมรับว่าประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนซาอุฯ ทำให้ต้นทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งโซลาร์และวินด์สูง เมื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้แยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตกรีน ไฮโดรเจนกว่าราคานำเข้าที่เฉลี่ย 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน

ดังนั้นหากต้องการให้เกิดโครงการกรีน ไฮโดรเจนขึ้นในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี มูลค่าการลงทุน 7,000ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 252,000 ล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นฮับกรีนไฮโดรเจนในภูมิภาคนี้ ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนด้วยแพคเกจที่เหมาะสมเพื่อให้ต้นทุนผลิตกรีน ไฮโดรเจนลดลงจนสามารถแข่งขันกับราคานำเข้าได้ เหมือนกับหลายประเทศที่ภาครัฐสนับสนุนทางการเงินและลดภาษีเป็นระยะยาวมากกว่า5-10 ปี


รอครม.ชุดใหม่อนุมัติตั้งรง.ยาต้านมะเร็ง-API

ดร.ณัฐ อธิวิทวัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า โรงงานผลิตยารักษามะเร็ง ร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดโดยโรงงานนี้จะยารักษามะเร็งประเภทชีววัตถุคล้ายคลึง(Biosimilar) และโรคอื่นๆด้วย เช่น โรครูมาตอยด์ โรคตา เป็นต้น พร้อมกับหาพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีมาร่วมทุนด้วย ยอมรับว่าการทำตลาดในธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ เพราะมูลค่าการลงทุนสูงมาก และใช้เวลาก่อสร้างนาน ดังนั้นจึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

ส่วนโรงงานผลิตสารตั้งต้นยา(API) จะเป็นการร่วมทุนกับอภ.และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เพื่อทดแทนการเข้าจากต่างประเทศ โดยจะผลิตสารตั้งต้น(API)ยาที่อภ.มีการผลิตจำนวนมาก เช่นยารักษาโรคธาลัสซีเมียหรือโรคโลหิตจาง ฯลฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 1,300ล้านบาท โดย 2 โครงการนี้คาดว่าผลการศึกษาจะมีความชัดเจนในสิ้นปีนี้ ส่วนการลงทุน ทางอภ.และสวทช.ยื่นขออนุมัติการลงทุนต่อรัฐบาลใหม่ก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปี2566 อินโนบิกได้ลงนามMOUกับประธานบริษัท โลตัสฟาร์มมาซูติคอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท อัลโวเจน (Alvogen)และแอซทีค (Aztiq) เพื่อศึกษาการร่วมจัดตั้งโรงงานผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilar) ในประเทศไทย

“ ที่ผ่านมา อินโนบิกได้ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ศึกษาจัดตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งในไทย ซึ่งต่อมาอินโนนิกได้ขยายขอบเขตการศึกษาไปถึงโรงงานประเภทBiosimilar เพื่อให้สามารถผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง ขยายการรักษาในกลุ่มโรคอื่นๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญระดับสากลของกลุ่ม Aztiqเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในผู้ทำการวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การ Supply สารตั้งต้นในการผลิต ตลอดจนเครือข่ายการตลาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทและโรงงานยา Biosimilar ในประเทศภายในปีนี้”ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.ได้กล่าวไว้

ปตท.เพิ่มงบลงทุนปีนี้อีก6หมื่นล.

การลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจใหม่ของปตท.เริ่มจะเก็บดอกออกผลภายใน1-2ปีนี้ แต่ช่วงนี้ก็ยังจำเป็นต้องอัดฉีดเงินลงทุนต่อเนื่อง ล่าสุด คณะกรรมการปตท. ได้ทบทวนแผนการลงทุนปี2566ของปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 โดยอนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 จากเดิม 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60,254 ล้านบาท โดยงบที่เพิ่มขึ้นราว 58,000 ล้านบาท เพื่อใช้จัดโครงสร้างธุรกิจ LNG terminal โดยมีแผนโอน LNG terminal แห่งที่ 2 ที่เดิมอยู่ภายใต้ PTTLNG ซึ่งเป็นบริษัทลูกปตท.ถือ 100% ไปบริษัทใหม่ที่ปตท.จะร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น50:50 ซึ่งสุดท้าย ปตท.จะได้รับเงินจากกฟผ.ภายหลังเข้ามาลงทุนในบริษัทร่วมทุนใหม่นี้

ส่วนงบลงทุนเพิ่มขึ้นบางส่วนจะใช้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า( EV)ของ บริษัท ฮอริษอนพลัส จำกัด ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2567 และก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยของบริษัท อรุณพลัสจำกัด ร่วมกับ CATL ส่วนการลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของ ปตท. เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 เป็นต้น

การพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ก้าวไกลกว่าพลังงาน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กลุ่มปตท. ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมเป็นพลังให้ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมั่นคงในเวทีโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น