กว่า 3 ทศวรรษที่ “ประทีป เผือกฟัก” สวมหมวกเป็นเกษตรกรในระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง กระทั่งวันนี้ในวัย 69 ปีที่วางมือพักผ่อนและส่งต่อมรดกอาชีพเลี้ยงหมูผ่านระบบเดียวกันนี้ให้แก่ลูกชาย อะไรทำให้เกษตรกรรุ่นดั้งเดิมคนนี้มั่นใจเต็มเปี่ยมกับระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง พร้อมเปลี่ยนผ่านฟาร์มหมู “ป่ามะพร้าวฟาร์ม” จ.นครราชสีมา ส่งมอบสู่คนรุ่นลูกด้วยความภูมิใจ
“ผมเข้าร่วมโครงการคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งตั้งแต่ปี 2536 ตอนนั้นเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ 80 แม่ ในรูปแบบประกันรายได้หรือฝากเลี้ยง วันเวลาผ่านไป 30 ปี วันนี้ผมขยายฟาร์มเลี้ยงแม่พันธุ์หมูได้ถึง 200 แม่ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคงตลอดมา ที่ดีใจก็คือฟาร์หมูที่ทำอยู่นี้สามารถส่งมอบเป็นมรดกให้ลูกชายใช้ทำมาหากินต่อได้ ตัวผมได้พักวางมือและให้คำปรึกษาเขาเป็นครั้งคราว หน้าที่ประจำตอนนี้ก็รับ-ส่งหลานปู่ไปโรงเรียน” ประทีปเล่าผ่านคำพูดและสายตาที่อิ่มเอม
การตัดสินใจเข้าสู่รูปแบบการจัดการเกษตร Contract framing ในครั้งนั้น สะท้อนความทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ของลุงประทีป ขณะที่เกษตรกรในยุคนั้นหลายรายไม่กล้าสมัครเข้าร่วมกับระบบนี้
ด้วยมุมมองที่มองโลกว่าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก เกษตรกรเก่งเรื่องปฏิบัติ แต่บริษัทเก่งวิชาการและเทคโนโลยี การยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆและนำมาใช้นอกจากจะช่วยเรื่องการพัฒนาแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนในการทำฟาร์มด้วย
นอกเหนือจากวิสัยทัศน์ของลุงประทีปแล้ว รูปแบบของระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจนระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ก็เอื้อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีทั้งมาตรฐานกำหนดรูปแบบการเลี้ยง การจัดการ ทำสัญญาข้อตกลงในมาตรฐานการผลิตและผลตอบแทนที่จะได้รับ มีเจ้าหน้าที่สัตวบาลมาให้คำแนะนำการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด สุดท้ายก็มีตลาดรองรับผลผลิต ไม่มีความเสี่ยงเรื่องขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ไม่ได้ราคา ซึ่งลุงประทีปแนะเคล็ดลับว่า ถ้าจะลงหลักปักฐานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนก็ต้องเลือกคู่ที่ดี มีความเป็นมืออาชีพ ดังที่ลุงตัดสินใจเลือกทำสัญญาคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งกับซีพีเอฟ
ในที่สุดความทันสมัยและพร้อมที่จะเรียนรู้ดังน้ำไม่เต็มแก้วของลุงประทีป ผนวกกับข้อดีของระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง และความเป็นมืออาชีพของคู่สัญญา รวมถึงความซื่อสัตย์ต่อกัน ก็นำพาให้ลุงประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างยั่งยืน กระทั่งส่งมอบเป็นมรดกอาชีพให้ลูกชายได้อย่างมั่นใจ
“ชัยพฤกษ์ เผือกฟัก“ ลูกชายลุงประทีป อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนอยู่กับฟาร์มหมูมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นพัฒนาการต่างๆ มากมาย ยิ่งคุณพ่อเป็นคนที่ทันสมัย ปลูกฝังเรื่องของการเปิดรับเทคโนโลยีต่างๆ เสมอมา ทำให้มีทั้งความรู้ความเข้าใจ และพร้อมรับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่บริษัทคู่สัญญาก็มีความเป็นมืออาชีพมาก ทำให้การทำฟาร์มเป็นไปได้ด้วยดีและเติบโตต่อเนื่อง
“ยืนยันว่าระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งช่วยลดความเสี่ยงการทำเกษตรและช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่เติบโตได้อย่างมีความรู้ เพราะบริษัทคู่สัญญามีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสนับสนุน ทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงแหล่งทุน ที่เคยเห็นมีข้อพิพาทกันของเกษตรกรกับคู่สัญญา ก็ล้วนเกิดจากความไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน เช่น เกษตรกรบางคนลักลอบนำอาหารสัตว์ไปขายหรือคู่สัญญาส่งของไม่มีคุณภาพไปให้เลี้ยงคือถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ใช้ชีวิตคู่ไปด้วยกันไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก” ชัยพฤกษ์กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.อภิญญา วนเศรษฐ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญา ระบุว่าหลังจากประเทศไทยมี “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560” ออกมาช่วยกำกับดูแลการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญา มีการทำหนังสือชี้ชวน มีสัญญากลางที่โปร่งใส และใช้ร่วมกัน ก็ลดปัญหาการเกิดข้อพิพาทได้มาก และสามารถส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงได้ โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเกษตรที่จดทะเบียนทำระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ราวๆ 400 ราย ซึ่งพบว่ากรณีพิพาทลดน้อยลงอย่างมาก และมักจะเกิดขึ้นกับคู่สัญญาที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและบริษัทรายเล็กๆ หรือโรงงานขนาดเล็กตามท้องถิ่นในส่วนภูมิภาคที่อาจยังมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
การเลือกคู่ชีวิตสำคัญเพียงใด การเลือกคู่สัญญาในการทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งก็สำคัญไม่แพ้กัน เลือกได้ดีก็จะมีการเติบโตเคียงข้างกันไปได้อย่างต่อเนื่อง สามารถส่งมอบเป็นมรดกอาชีพให้ลูกหลานเฉกเช่นเดียวกับ ลุงประทีป ที่กำลังนั่งมองการเติบโตอีกขั้นของ “ป่ามะพร้าวฟาร์ม” บนความภูมิใจที่สร้างมันมากับมือ