xs
xsm
sm
md
lg

ศศินทร์ เผยความสำเร็จการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2023 Global Competition

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน จัดการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2023 Global Competition การแข่งขันแผนธุรกิจสตาร์ตอัประดับโลกสำหรับนิสิต นักศึกษา ภายใต้แนวคิด “Growing Impactful Ventures” และได้มีการประกาศผลรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยทีม Castomize Technologies จาก Singapore University of Technology and Design ประเทศสิงคโปร์ ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ รางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (H.M. The King’s Award) พร้อมรางวัลเงินสด 18,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งภายหลังจบการประกาศผลการแข่งขัน เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารจากศศินทร์ และทีมผู้ชนะเกี่ยวกับการการแข่งขันในครั้งนี้

ศาสตราจารย์ ดร. เอียน เฟนวิค ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีประลองความสามารถของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และธุรกิจสตาร์ตอัปจากทั่วโลก ให้ได้มีการพบปะและเรียนรู้จากกันและกัน มุ่งหวังว่าผู้เข้าแข่งขันจะเติบโตและขยายธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ เราต้องการผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีไหวพริบและความคิดเฉียบคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบเชิงบวกให้โลกได้อย่างเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งปัจจุบันนี้ธุรกิจในรูปแบบสตาร์ตอัปได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิต The startup ecosystem ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ผู้ประกอบการกำลังหาหนทางแก้ปัญหาในระดับสากล เราได้เห็นธุรกิจสตาร์ตอัปนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และมีความมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ


ทีม Castomize Technologies จากประเทศสิงคโปร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ รางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (H.M. The King’s Award) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขัน ซึ่งในครั้งนี้ ทีมมีเป้าหมายต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ในการรักษากระดูกหัก โดยสร้างเฝือกด้วยเทคโนโลยี 4D Printing แรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจนี้เกิดจากผู้ร่วมก่อตั้งได้รับบาดเจ็บ กระดูกแขนหักและพยายามหาทางออกในการผลิตเฝือกแบบใหม่ เราจึงเกิดการมาระดมความคิดและประสบการณ์ร่วมกัน เสริมด้วยวิศวกรรมชีวการแพทย์ เราจึงสามารถผลิตเฝือกขึ้นมาได้ทั้งชิ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทีมเราชนะการแข่งขันครั้งนี้ คือการที่ทีมนั้นประกอบด้วยคนจากหลายสาขา ทั้งวิศวกรรม ชีวการแพทย์ นักออกแบบ สถาปนิก มาร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด ไอเดีย และประสบการณ์ เพื่อสร้างแผนธุรกิจที่แข็งแรงและชัดเจน โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการแข่งขันนี้ คือการที่เราได้พบกับนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก จากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้าน Engineering, deep tech หรือ AI ที่มารวมตัวกัน สร้างมิตรภาพซึ่งกันและกัน เป็นกลุ่มคนที่มีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากทำ โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมพลาสติกโพลิเมอร์ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือคำติชมจากคณะกรรมการที่เราได้รับ ทั้งในแง่ของด้านการเงินและในด้านการทำการตลาด สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่เราจะนำกลับไปปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจของเราให้เติบโตขึ้นไป สุดท้ายนี้ อยากเชิญชวนเพื่อน ๆ นิสิต นักศึกษา ทั่วโลก มาร่วมสมัครการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2024 ในปีหน้าที่ประเทศไทย คุณจะได้เรียนรู้การพัฒนาแผนธุรกิจอีกมากมาย และคุณจะสามารถขยายธุรกิจให้เป็นสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จได้

“SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin ยังคงเป็นเวทีที่มีนิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจร่วมแข่งขันเป็นอย่างมาก การแข่งขันในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 172 ทีม จาก 42 สถาบันอุดมศึกษา ใน 16 ประเทศ และมีสถาบันใหม่ ๆ มาเข้ามาร่วมแข่งขันมากถึง 12 สถาบันฯ รวมถึงมีทีมจากประเทศที่ไม่เคยเข้าร่วมแข่งขันมาก่อน จาก 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา และประเทศเคนยา ซึ่งแม้ว่าการแข่งขันนี้จะจัดมายาวนานมากกว่า 2 ทศวรรษ แต่ก็ยังสามารถดึงดูดความสนใจให้สถาบันฯใหม่ ๆ และประเทศใหม่ ๆ มาร่วมการแข่งขันมากขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคคล พัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน และความสำเร็จของการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin” ศาสตราจารย์ ดร. เอียน เฟนวิค พูดเสริม

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม https://bbc.sasin.edu/2023/ หรือ Facebook: SCG Bangkok Business Challenge at Sasin
กำลังโหลดความคิดเห็น