บอร์ด กทพ.เบรกขึ้นค่าทางด่วน 3 สายอีก 5 บาท หวั่นกระทบค่าครองชีพ ปชช. สั่งเจรจากองทุน TFF ขอตรึงราคาเดิม "สายบูรพาวิถีและฉลองรัช" ด้านผู้ว่าฯ กทพ.เผยกองทุนฯ ยันต้องขึ้นตามสัญญา ชงบอร์ดตัดสิน 25 ก.ค. ส่วน "บางพลี-สุขสวัสดิ์" ไม่ได้ปรับมา 10 ปี ขอขึ้นตามดัชนีผู้บริโภค
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากที่ กทพ.ได้นำเสนอบอร์ด กทพ.ขออนุมัติปรับขึ้นค่าผ่านทางโครงการทางด่วน 3 สาย ได้แก่ โครงการทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์), โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และโครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะปรับขึ้น 5 บาทจากราคาปัจจุบัน โดยให้มีผลวันที่ 1 ก.ย. 2566 นั้น
บอร์ด กทพ.ยังไม่พิจารณาอนุมัติเนื่องจากเห็นว่าการปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงนี้จะส่งผลกระทบและเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน จึงพิจารณาตรึงค่าผ่านทางเดิมไปก่อน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงคมนาคม อีกทั้งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จึงเห็นว่าควรรอให้มีรัฐบาลใหม่ก่อน
ในส่วนของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัชนั้น การปรับค่าผ่านทาง เป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขข้อตกลง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) บอร์ดจึงมอบหมายให้ กทพ.ไปเจรจากับผู้บริหารกองทุน TFFIF เพื่อขอชะลอการปรับขึ้นค่าผ่านทางออกไป
“บอร์ดมอบหมายให้ผู้บริหาร กทพ.ไปเจรจากับผู้บริหารกองทุน TFF อย่างเปิดเผย และเจรจาให้ถึงที่สุด หากสามารถทำได้ก็อยากขอให้ชะลอออกไปก่อนเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน” ประธานบอร์ด กทพ.กล่าว
@TFF ยืนยันต้องขึ้นตามสัญญา “ผู้ว่าฯกทพ.” ชงบอร์ด 25 ก.ค.ตัดสิน
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ตามเงื่อนไขข้อตกลงกองทุน TFFIF จะมีการปรับค่าผ่านทางทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัช ทุก 5 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ก.ย. 2566 โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภคปรากฏว่าปรับขึ้นประมาณ 10% หรือปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท จึงได้เสนอบอร์ด กทพ.พิจารณาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 แต่บอร์ดยังไม่ได้อนุมัติโดยมอบให้กทพ.ไปเจรจาผู้จัดการกองทุน TFFIF
กทพ.ได้เจรจากับผู้จัดการกองทุน TFFIF คือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว ทางกองทุน TFFIF ยืนยันให้ กทพ.ดำเนินการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามเงื่อนไขสัญญา และเป็นการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยกองทุนฯ มีหน้าที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย
ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า จะสรุปผลการเจรจาและนำรายงานต่อที่ประชุมบอร์ด กทพ.ในวันที่ 25 ก.ค. 2566 หากบอร์ดต้องการดูแลเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนโดยไม่ขึ้นค่าผ่านทางด่วน 2 สายดังกล่าว ยังมีแนวทางที่สามารถพิจารณาได้ เช่น ลดสัดส่วนรายได้ของ กทพ.ที่นำส่งคลังมาจ่ายชดเชยให้กองทุน TFFIF เป็นต้น
โดยตามเงื่อนไข กทพ.จะต้องโอนรายได้ค่าผ่านทาง 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถีในสัดส่วน 45% ของรายได้ ให้กองทุน TFFIF เป็นระยะเวลา 30 ปี โดย กทพ.ได้รับรายได้ค่าผ่านทางในสัดส่วน 55%
“กองทุน TFF มีสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปรับค่าผ่านทางตามเงื่อนไขจะเข้าข่ายทำผิดสัญญาได้”
สำหรับโครงการทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่ง กทพ.ดำเนินการเอง ได้มีการเสนอบอร์ด กทพ.เพื่อขอปรับขึ้นค่าผ่านทางด้วยเช่นกัน เนื่องจากสายทางนี้ไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางที่เป็นสายทางกว่า 10 ปีแล้ว ประกอบกับพิจารณาตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ที่ผ่านมา กทพ.แบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามดัชนีผู้บริโภค จึงขอบอร์ดปรับขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลปี 2565 ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55 กม. มีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ เริ่มต้น 20 บาท สูงสุด 55 บาท, รถ 6-10 ล้อ เริ่มต้น 50 บาท สูงสุด 145 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป เริ่มต้น 75 บาท สูงสุด 220
บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 128,219 คันต่อวัน
ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา -อาจณรงค์) ระยะทาง 28.2 กม. มีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 60 บาท และมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 80 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 193,150 คันต่อวัน
ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ระยะทาง 22.4 กม. มีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ เริ่มต้น 15 บาทสูงสุด 55 บาท, รถ 6 ล้อเริ่มต้น 25 บาท สูงสุด 105 บาท, รถ 8 -10 ล้อ เริ่มต้น 35 บาท สูงสุด 115 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป เริ่มต้น 35 บาท สูงสุด 160 บาท ปี 2565 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 218,082 คันต่อวัน