“เซ็นทรัล-คิงเพาเวอร์ -เปรม กรุ๊ป” ซื้อซองชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ งานติดตั้งป้ายโฆษณา มี "แพลน บี มีเดีย-คิงเพาเวอร์" จับตายื่นซอง 4-5 ก.ค. ส่วนพื้นที่สีแดง 12 สถานีไม่มีเอกชนซื้อซอง อาจเปิดรายย่อยเช่าตรง รฟฟท.หรือ SRTA คาดเข้าพื้นที่ใน พ.ย.นี้
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
(รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่ รฟท.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และงานประกวดเสนอผลตอบแทนเพื่อเช่าสิทธิติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี
(จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน
ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ
ดอนเมือง หลักหก รังสิต บางซ่อน บางบำหรุ ตลิ่งชัน) จำนวน 4 สัญญา โดยขายเอกสารประกวดราคาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม-28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีบริษัทเอกชนให้ความสนใจซื้อเอกสารประกวดเสนอผลตอบแทนฯ 3 สัญญา คือ งานพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, งานสิทธิ์ติดตั้งป้ายโฆษณา สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสัญญาสิทธิ์ติดตั้งป้ายโฆษณา 12 สถานี รถไฟสายสีแดง ส่วนสัญญางานพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12 สถานีรถไฟสายสีแดง ไม่มีเอกชนซื้อเอกสาร
โดยมีเอกชนซื้อซองจำนวน 5 ราย
ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 47,675 ตารางเมตร มีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
หรือ CPN 2. บริษัท คิง เพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด 3. บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
สัญญาที่ 2 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดงจำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 3,759 ตารางเมตร ไม่มีบริษัทเอกชนซื้อเอกสารการประกวดเสนอผลตอบแทน ซึ่งจะเปิดให้มีการประมูลอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2566
สัญญาที่ 3 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,303 ตารางเมตร มีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
สัญญาที่ 4 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,080 ตารางเมตร มีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ จำนวน 2 รายได้แก่ 1. บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท คิง เพาเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
นายอนันต์กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 รฟท.ได้เชิญบริษัทเอกชนที่ซื้อซองลงพื้นที่และรับฟังการประชุมชี้แจง ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ กำหนดให้ยื่นข้อเสนอในส่วนของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คือ สัญญาที่ 1 พื้นที่เชิงพาณิชย์ และสัญญาที่ 3 ติดตั้งป้ายโฆษณาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566
ประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 และประกาศผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิควันที่ 15 สิงหาคม 2566 ณ อาคารฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ชั้น 1 กำหนดเปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนสัญญาที่ 1 วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. (เช้า) ส่วนสัญญาที่ 3 เปิดซองผลตอบแทน เวลา 13.00-16.00 น. (บ่าย) ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชั้น 1
ส่วนสัญญาที่ 4 ติดตั้งป้ายโฆษณาสายสีแดง 12 สถานี กำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชั้น 1 ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ วันที่ 13 กรกฎาคม
2566 ประกาศผลผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิค วันที่ 15 สิงหาคม
2566 กำหนดเปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทน ในวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น.
@สัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์สายสีแดง 12 สถานี ขายซองรอบ 2 ใน ก.ค.นี้
สำหรับสัญญาที่ 2 พื้นที่เชิงพาณิชย์สายสีแดง 12 สถานีที่ไม่มีเอกชนซื้อซองนั้น ยกเลิกตามขั้นตอน และเร่งออกประกาศเชิญชวนอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งหากยังไม่มีเอกชนซื้อซองอีกจะพิจารณาแนวทางอื่น เช่น ให้สิทธิ์ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน หรือ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกเดินรถสายสีแดง รับพื้นที่ไปดำเนินการ โดยให้ผู้ประกอบการ ร้านค้ารายย่อย ทำสัญญาเช่าตรงไปก่อนในช่วงรอผู้ร่วมลงทุน (PPP) เดินรถไฟสายสีแดง
@ปั้นแลนด์มาร์กใหม่ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ราคาสินค้า อาหารมาตรฐานห้างฯ
ทั้งนี้ พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ประมาณ 47, 675 ตารางเมตรนั้น ได้กำหนดให้จัดสรรเป็นพื้นที่โอทอป 600 ตารางเมตร และกำหนดเกณฑ์ราคาสินค้าอาหารต่างๆ ในมาตรฐานของห้างสรรพสินค้า โดยจะมีการจัดโซนพื้นที่ จำหน่ายอาหารมุมประหยัดเหมือนสนามบินเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนด้วย
“สัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ 12 สถานีสายสีแดงอาจจะมีความล่าช้าประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการ คาดว่าจะได้ผู้ประกอบการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะมีรายได้ตลอดอายุสัญญาขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 5,520 ล้านบาท เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ รวมถึงทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าและเพิ่มประสิทธิภาพยกระดับการให้บริการภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นจุดนัดพบ แหล่งชอปปิ้ง แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในอนาคต ”