xs
xsm
sm
md
lg

ดีต่อสิ่งแวดล้อม GPSC จับมือ Meranti ร่วมศึกษาพลังงานสะอาด ป้อนโรงเหล็กสีเขียวแห่งแรกในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของประเทศสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดป้อนโรงงานผลิตเหล็ก มุ่งสู่การเป็นเป็นโรงเหล็กสีเขียวแห่งแรกในไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างที่ทราบกันดีว่า เทรนด์พลังงานของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต กำลังมุ่งไปสู่ความเป็น “กรีน” และ “คลีน” มากขึ้น อุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ตั้งเป้าขับเคลื่อนไปจุดมุ่งหมายเดียวกันนี้ เช่นเดียวกับ GPSC เองก็มีเป้าหมายสำคัญโดยตั้งเป้าบรรลุ Carbon neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Emissions (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ภายในปี ค.ศ. 2060

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
แน่นอนว่า สำหรับการเซ็น MOU ในครั้งนี้ก็สอดคล้องกับจุดยืนและเป้าหมายของ GPSC เช่นกัน และไม่ใช่เพียงเท่านั้น จากการให้ข้อมูลโดยนางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC ระบุว่า มีเรนติ สตีล ก็มีเป้าหมายเรื่อง Net Zero และนั่นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ทั้งสองเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีต่อกัน และมุ่งสู่ Net Zero Society ร่วมกันได้

“มีเรนติ สตีล อยากจะสร้างโรงงานที่เป็นกรีน สตีล ในประเทศไทย ดังนั้น GPSC ซึ่งเป็นแกนนำด้านพลังงานไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ก็จะแสวงหาโซลูชั่นให้กับทางมีเรนติ สตีลได้ อย่างแรกเลยก็คือ ธุรกิจสตีล ต้องการ Renewable เพื่อที่จะปรับให้เป็นกรีน สตีล ในกระบวนการผลิตของเขา อย่างที่สองคือในกระบวนการผลิต มีเรนติต้องการ Green Hydrogen ทาง GPSC ก็มีความสามารถในการผลิต Green Hydrogen เพื่อส่งให้ทางมีเรนติได้ ดังนั้น เอ็มโอยูนี้ เราก็จะทำร่วมกันเพื่อให้เกิดกรีน สตีล ในประเทศไทยให้ได้”

“คำถามคือ ทำไมถึงเป็นกรีน สตีล อย่างที่ทราบกันว่า ในโลกนี้ก็มีภาษีคาร์บอน อย่างเช่น CBAM ของทางยุโรป เขาก็ต้องการมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นโลว์คาร์บอน และเรื่องเหล็กก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่น่าจะสามารถทำให้เป็นกรีน สตีล เพื่อส่งไปยุโรปได้ อันนี้เราก็คิดว่ามันเป็น Next Stept ของธุรกิจที่เราจะเคลื่อนไปสู่ความเป็น Low Carbon Society ร่วมกันกับลูกค้าได้”


“เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมอุตสาหกรรมของเรา กรีน และ คลีนมากขึ้น สังคมอุตสาหกรรมเราก็จะผลิตคาร์บอนน้อยลง เราก็จะส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชนรุ่นหลัง อันนี้ก็เป็นข้อดีของกรีนและคลีนโซไซตี้ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา”

นางรสยา เธียรวรรณ กล่าวย้ำด้วยความเชื่อมั่น พร้อมทั้งมองถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการต่อยอดโอกาสจากความร่วมมือในครั้งนี้ที่จะส่งต่อ Green Energy ให้กับธุรกิจอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

มิสเตอร์เซบาสเตียน แลนเกนดอล์ฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด
ขณะที่มิสเตอร์เซบาสเตียน แลนเกนดอล์ฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด กล่าวว่าการร่วมมือกับ GPSC ในครั้งนี้ มีความมุ่งหวังสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยที่สามารถสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“เหล็ก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มักถูกมองข้าม แต่ถ้าไม่มีเหล็ก ชีวิตสมัยใหม่ของพวกเราก็คงไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กคือเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวันนี้เราสามารถเริ่มต้นการทำงานสู่อนาคตของการผลิตเหล็กที่ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว โดยความร่วมมือกับ GPSC”


“เรารู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมาก ที่ได้ร่วมมือกับ GPSC บริษัทด้านพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของไทยที่มีพอร์ตการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีเรนติ สตีล ภายใต้แบรนด์ Green Steel พยายามลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมเหล็กโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่ GPSC มีนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าเราสามารถทำงานร่วมกัน และทำให้โครงการ Green Steel เป็นจริงในประเทศไทย และยังเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มิสเตอร์เซบาสเตียนกล่าวแสดงความเชื่อมั่นในตอนท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น