xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จับมือ สอท.-ผู้ประกอบการ 17 กลุ่มบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.จับมือร่วม ส.อ.ท.และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ 17 กลุ่ม ประกาศเจตนารมณ์ร่วมส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable supply chain) ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยระหว่างแถลงความร่วมมือแสดงเจตนารมณ์การส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable supply chain) ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) ว่า  กนอ.และ ส.อ.ท.ได้ร่วมขยายผลโดยแสดงเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor อย่างน้อยระดับพื้นฐาน (Beginner) และส่งเสริมให้ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) เลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรอง Eco Factory for Waste Processor ด้วย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นในการส่งของเสียไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักการจนจบสิ้นกระบวนการ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมาภายหลัง

“เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มมากขึ้น กนอ.ได้ประกาศสิทธิประโยชน์/มาตรการจูงใจต่อการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สำหรับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) หรืออุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 3 ขึ้นไป หรือธงขาวดาวทอง จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการคำขอด้านการใช้ที่ดินและประกอบกิจการ และด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2567 โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบอนุมัติอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permission Privilege : e-PP) ของ กนอ.” นายวีริศกล่าว


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ส.อ.ท.มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน เกิดสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG Model ของรัฐบาลด้าน Green Economy และ Circular Economy ส.อ.ท.ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมให้ยกระดับมาตรฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor พัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนของเสีย (Circular Material Hub) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยอาศัยแนวคิดการเปลี่ยน Waste จากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปเป็นวัตถุดิบ หรือ Materials ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ตามหลัก Circular Economy

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรมยังร่วมประกาศเจตนารมณ์พร้อมทั้งแสดงจุดยืนภายในงาน เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรที่มีต่อการส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรอง Eco Factory for Waste Processor ไว้ด้วย เช่น บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรม 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท.ที่มุ่งมั่นดำเนินอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยินดีร่วมขับเคลื่อน ผลักดัน และสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน กนอ. และ ส.อ.ท.ให้การรับรองโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐาน Eco Factory จำนวน 379 แห่ง ส่วนมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor จำนวน 9 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจำนวน 18 แห่ง

นายปรีดา วัชรเธียรสกุล Vice President-Manufacturing บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “SCGC ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดัน Sustainable supply chain ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor ซึ่งปัจจุบัน SCGC ได้สื่อสารไปยังคู่ค้าในเรื่องของนโยบายการพิจารณาใช้บริการผู้รับกำจัดของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริหารจัดการของเสีย ตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป”

นายประนาช โกศายานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “ IRPC มีความุ่งมั่นและยินดีอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นกำลังขับเคลื่อน ผลักดัน และสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยในฐานะของผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นคู่ค้าธุรกิจขอรับรองมาตรฐานโรงงานได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor อีกทั้งจะเลือกใช้ผู้ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ดังกล่าว”

ด้านนายเสขสิริ ปิยะเวช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานคุณภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วย GC ตระหนักถึงการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน จึงขอร่วมส่งเสริมนโยบายดังกล่าว และพร้อมที่จะดำเนินการตามวัตถุที่วางไว้ภายในปี 2569”

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และในนามผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท. กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นดำเนินอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Becoming Environmental Friendly Industry) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Committed to Social Responsibility Engagement) จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นกำลังขับเคลื่อน ผลักดัน และสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) และด้วยบทบาทหน้าที่ของการประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) และเป็นผู้บำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) จึงมีเป้าหมายการขับเคลื่อนร่วมกัน ในบทบาทที่แตกต่างกัน ดังนี้

1) เป้าหมายการส่งเสริมในฐานะของผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นคู่ค้าธุรกิจขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน (Beginner) และ/หรือสนับสนุนการเลือกใช้บริการผู้ประกอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่ได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) ภายในระหว่างช่วงปี 2568-2569 ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

2) เป้าหมายการส่งเสริมในฐานะของผู้บำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) จะมุ่งสู่การขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน (Beginner) ภายในปี 2568 ตามนโยบายการส่งเสริมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงการยกระดับการรับรองอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสู่ Sustainable Supply Chain ต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น