กรมเจ้าท่าประชุมเร่งพิจารณาแผนแก้ไขข้อบกพร่อง 4 ข้อตามมาตรฐาน หลัง IMO ตรวจประเมิน พบประเด็นผู้ตรวจสอบเรือ การสอบสวนกรณีอุบัติเหตุ และการช่วยเหลือทางทะเล ต้องแก้ไขให้เสร็จใน 90 วัน
ตามที่ประเทศไทยได้รับการตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยผลการประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMSAS) ปรากฏว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานของ IMO และพบข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุง 4 ข้อ โดยให้กรมเจ้าท่าจัดทำแผนแก้ไข (Corrective Action Plan, CAP) ข้อบกพร่อง (Findings) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปลอดภัย) เป็นประธานการประชุมพิจารณาแผนแก้ไข (Corrective Action Plan, CAP) จากผลการตรวจสอบประเทศไทย ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) เพื่อให้การดำเนินการจัดทำแผนแก้ไขฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสมและสามารถนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยมีผู้แทนจากสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ ผู้แทนจากสำนักมาตรฐานเรือ ผู้แทนจากกองกิจการระหว่างประเทศ และผู้แทนจากสำนักกฎหมาย กรมเจ้าท่า เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานภายนอก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) สำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางน้ำ (สอน.) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนแก้ไขฯ ข้อบกพร่องทั้ง 4 ข้อ เพื่อให้การจัดทำแผนแก้ไขฯ เป็นที่ยุติและเสร็จสิ้นทันตามกำหนดนำส่งหัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบ (ATL) ต่อไป
สำหรับข้อบกพร่องทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย ข้อบกพร่อง 1 (Findings 1) การดำเนินการตรวจสอบเรือในฐานะรัฐเจ้าของธง (Flag state) ไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าคุณสมบัติของเรือและคนประจำเรือเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ
ข้อบกพร่อง 2 (Findings 2) ไม่พบรายงานการสอบสวนกรณีอุบัติเหตุทางทะเลร้ายแรง (very serious marine casuaties) ที่เกิดขึ้นกับเรือสัญชาติไทยในปี 2555 และปี 2559 การใช้งานระบบ THISIS ร่วมกับระบบทะเบียนเรือ
ข้อบกพร่อง 3 (Findings 3) ไม่พบข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างกรมเจ้าท่าและองค์กรที่ได้รับการยอมรับ (Recognized Organization) จากกรมเจ้าท่าให้มีอำนาจในการตรวจสอบและออกใบอนุญาตเรือ
และข้อบกพร่อง 4 (Findings 4) หน่วยงานค้นหาและช่วยเหลือยังไม่มีระบบในการเข้าถึงแผนการค้นหาและช่วยเหลือของเรือโดยสารที่เข้า-ออกประเทศไทยเป็นประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานค้นหาและช่วยเหลือเรือในกรณีฉุกเฉิน