xs
xsm
sm
md
lg

โครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล รุ่น 8

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมเพื่อนชุมชนจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สานต่อโครงการ สมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 8 ในปี 2566 คัดเลือก 7 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ เพิ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ชูจุดแข็งโมเดลพี่เลี้ยง โดยมีอาจารย์ นักศึกษา และสมาคมเพื่อนชุมชน ร่วมทำวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำไปสู่การยกระดับศักยภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

นายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) โครงการสมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดลเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการยกระดับศักยภาพวิสาหกิจชุมชนตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ได้ดำเนินความร่วมมือตั้งแต่ รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 8 รวมทั้งสิ้น 58 กลุ่ม เกิดเป็นเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสมาคมเพื่อนชุมชน อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงผ่านการทำวิจัย การจัดกิจกรรมฝึกอบรม การถ่ายทอดองค์ความรู้และไอเดียความคิดสร้างสรรค์ การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพสินค้า


ในปี 2566 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก จำกัด เทศบาลเมืองมาบตาพุด, วิสาหกิจชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์ทางชีวภาพมาบตาพุด เทศบาลเมืองมาบตาพุด, วิสาหกิจชุมชนบ้านเขาไผ่ เทศบาลตำบลทับมา, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองมะหาด เทศบาลตำบลทับมา, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรแปรรูปภูลำไยบ้านฉาง เทศบาลเมืองบ้านฉาง, วิสาหกิจชุมชนบ้านสาย 9-หนองกวาง เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา และวิสาหกิจชุมชนเทพประสิทธิ์ฟาร์ม เทศบาลตำบลเนินพระ

ตัวอย่างความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ชุมชนเกาะกก ในนามบริษัทวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก จำกัด จากเดิมเป็นศูนย์รวมสินค้าวิสาหกิจชุมชน เปลี่ยนเป็นศูนย์รวมการจัดการและกระจายสินค้าจากหลายชุมชน เสริมจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการ คือ สร้างเว็บไซต์และระบบการลงบัญชี การใช้แถบบาร์โค้ดเพื่อให้สะดวกในการจัดการคลังสินค้า ส่งผลให้มีระบบการจัดการสินค้าที่แม่นยำและสะดวกมากยิ่งขึ้น


ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาไผ่ ที่เดิมมีปัญหาเรื่องเศษลอดช่องเหลือทิ้ง ทำให้เกิดขยะเศษอาหารเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการแก้ไขจุดอ่อน โดยทำการนำเศษลอดช่องมาพัฒนาดัดแปลงเป็นไอศกรีมลอดช่อง และเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนบ้านเขาไผ่มียอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนวิสาหกิจชุมชนเทพประสิทธิ์ฟาร์ม สมาชิกทุกคนได้รับการอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้จากพี่เลี้ยง ภายหลังจึงสามารถปรับปรุงตราสินค้าและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โดยพัฒนาสินค้าเป็นข้าวโพดอบกรอบ ทางเลือกใหม่สำหรับผู้รักสุขภาพ ตอบเทรนด์และความต้องการของตลาดในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น