xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าลงพื้นที่ชี้แจงชาวอยุธยา แบบสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำป่าสัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าจัดประชุมผู้นำชุมชนและชาวบ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา ประชาสัมพันธ์และนำเสนอรูปแบบ วิธีก่อสร้าง มาตรการป้องกันผลกระทบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำป่าสัก ระยะ 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเดินเรือ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเรือเดินในแม่น้ำป่าสัก ระยะ 2 ตอนที่ 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง พร้อมผู้เข้าร่วมประกอบด้วย กรรมการ ที่ปรึกษาควบคุมงาน ผู้รับจ้าง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ


โดยมีวัตถุประสงค์การประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้เพื่อนำเสนอรูปแบบที่จะดำเนินการก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง การดำเนินงานที่ผ่านมา มาตรการป้องกันผลกระทบจากการดำเนินงาน ตลอดจนการปรับแก้ไขรูปแบบตามความต้องการของพื้นที่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องความสูงเขื่อนและลักษณะของบันไดขึ้นลงตามแนวเขื่อน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป


ซึ่งวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ได้ดำเนินการใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณวัดเกาะแก้วเกษฎาราม สำหรับชี้แจงโครงการในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลบ่อโพง หมู่ 3 ตำบลบ้านเกาะ และวัดป่าโค ชี้แจงโครงการในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลบ้านเกาะ เทศบาลพระนครศรีอยุธยา ผลการประชาสัมพันธ์สรุปได้มีดังนี้

เวลา 09.00-10.30 น. จัดประชาสัมพันธ์โครงการบริเวณวัดเกาะแก้วเกษฎาราม ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมในพื้นที่ จำนวน 40 คน ประกอบด้วย นายสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา นายจักรี บุญธรรม นายก อบต.บ่อโพง จ.ส.อ.จตุรงค์ เสตางกูล นายก อบต.บ้านเกาะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ อบต.บ้านเกาะ และ อบต.บ่อโพง สรุปผู้เข้าร่วมรับทราบข้อมูลที่ กรมเจ้าท่า นำเสนอและเห็นด้วยกับรูปแบบการปรับลดความสูงของสันเขื่อน ที่มีความสูงสันเขื่อนสอดคล้องกับความสูงตลิ่งปัจจุบันที่สูงไม่เกิน 50 เซนติเมตร และรูปแบบบันไดที่ใช้ขึ้นลงเขื่อนบริเวณจุดลงน้ำของชุมชนเป็นบันไดลงด้านข้างเขื่อนเพื่อให้สามารถลงน้ำได้จนถึงระดับน้ำลงต่ำสุด ส่วนบันไดขึ้นลงบริเวณหน้าวัดเกาะแก้วเกษฎารามจะทำเป็นขั้นแบบอัฒจันทร์ ลงด้านหน้าซึ่งจะมีข้อจำกัดในช่วงระดับน้ำลงต่ำสุดจะไม่สามารถลงน้ำได้โดยมีระยะห่างจากขั้นบันไดสุดท้ายถึงระดับน้ำประมาณ 1.20 เมตร ชึ่งถ้าต้องการทำบันไดให้ถึงระดับน้ำจะต้องใช้พื้นที่ยื่นเข้ามาในที่ดินวัดด้วย พร้อมทั้งอยากให้กรมเจ้าท่าเร่งเข้ามาดำเนินการโดยเร็ว


เวลา 11.00-12.00 น. จัดประชาสัมพันธ์โครงการบริเวณวัดป่าโค ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมในพื้นที่ประกอบด้วย นายสุวัฒน์ สรรพโกศลกุล นายกฤษณ์ เถี่ยนมิตรภาพ รองนายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้าง และชาวบ้านนอกพื้นที่ก่อสร้าง สรุปผลการประชุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากตลิ่งพังจำนวน 7 ครัวเรือนเห็นด้วยกับรูปแบบที่กรมเจ้าท่าจะดำเนินการก่อสร้างทั้งเรื่องความสูงเขื่อน และรูปแบบบันไดขึ้นลงด้านข้าง เนื่องจากสามารถลงถึงน้ำได้และยังสามารถป้องกันอันตรายจากขโมยได้ ส่วนความเห็นของทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา กับชาวบ้านผู้เข้าร่วมที่ไม่ใช่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องการให้ทำบันไดลงด้านหน้าแบบอัฒจันทร์ตลอดแนวเขื่อน และไม่เห็นด้วยกับรูปแบบที่ได้นำเสนอ จึงขอให้กรมเจ้าท่าทบทวนรูปแบบการก่อสร้างใหม่อีกครั้ง และนำมาหารือร่วมกับเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาในโอกาสต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น