บอร์ด รฟม.เห็นชอบโมโนเรล "สีน้ำตาล" 4.17 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสายสุดท้ายในแผนแม่บท M-Map 1 ร่วมทุน PPP Net-Cost สัมปทาน 30 ปีเสนอ ครม.อนุมัติ ธ.ค. 66 ประมูลต้นปี 67 ตอกเข็มปลายปี 68 สร้าง 4 ปี เปิดบริการ 71
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการ ผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รูปแบบ PPP-Net cost หลังจากนี้จะนำเสนอรายงานผลการศึกษาโครงการฯ ขอความเห็นชอบในการดำเนินโครงการฯ จากกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็น ครม.ชุดใหม่ ประมาณช่วงเดือน ก.ย. 2566 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อคัดเลือกเอกชน คาดเริ่มก่อสร้างช่วงปลายปี 2568
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีความล่าช้าจากแผนเนื่องจากมีแนวคิดในการก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ไปพร้อมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่จะก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน โดยจะให้ กทพ.ดำเนินการก่อสร้างฐานรากให้รถไฟฟ้าด้วยเพื่อลดผลกระทบด้านจราจร แต่ปัจจุบันประเมินว่าระยะเวลาการก่อสร้างทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและทางด่วน ตอน N2 จะอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และจะไม่มีผลกระทบด้านการจราจรซ้ำซ้อนกัน
“บอร์ดสอบถามเรื่องการก่อสร้าง ซึ่ง รฟม.คาดการณ์ว่าสายสีน้ำตาลจะก่อสร้างช่วงปลายปี 68 ส่วนทางด่วน N2 อาจจะเริ่มช่วงปลายปี 67 ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประกอบกับพบว่าในการเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำตาล รูปแบบ PPP นั้น จะต้องเสนอทั้งโครงการแยกโครงสร้างเสาตอม่อออกไปให้กทพ.ทำก่อนไม่ได้”
ส่วนรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ซึ่ง รฟม.ได้นำข้อมูลเพิ่มเติมให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เป็นผู้ดำเนินการด้าน EIA โครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อชี้แจงต่อ คชก.ต่อไป
“รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลถือเป็นสายสุดท้ายในโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map 1) จำนวน 10 สายทาง” ประธานบอร์ดรฟม.กล่าว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ยกระดับตลอดเส้นทาง มีระยะทางรวม 22.1 กม. มี 20 สถานี มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,371 ล้านบาท ค่างานก่อสร้าง 19,247 ล้านบาท ค่างานระบบ 12,442 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,159 ล้านบาท ค่า
Provisional Sum 1,501 ล้านบาท
โดยลงทุนรูปแบบ PPP-Net cost รัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า โดยรัฐสนับสนุนเงินไม่เกินค่างานโยธา ผ่อนชำระ 10 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยเอกชนให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา รวมไปถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปี
ตามแผนคาดว่า เสนอ ครม.เห็นชอบในเดือน ก.พ. 2567 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการสำรวจอสังหาริมทรัพย์/จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ช่วงเดือน มี.ค. 2568- เม.ย.2571, คัดเลือกเอกชน (PPP) เดือน ก.ย. 2567-ก.ย. 2568, ก่อสร้าง ผลิต ติดตั้ง และทดลองเดินรถ ประมาณเดือน ต.ค. 2568 เปิดให้บริการเดือน ต.ค. 2571
คาดการณ์ผู้โดยสารปี 2571 (ปีเปิดให้บริการ) ที่ 222,650 คน-เที่ยว/วัน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) 23.48 %, NPV 56,662 ล้านบาท, B/C Ratio 2.79 เท่า ค่าโดยสาร 14 บาทสูงสุด 42 บาท (ราคา ณ ปี พ.ศ. 2565)