xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ลุยซื้อแคร่ขนสินค้า 946 คันกว่า 2.45 พันล้าน ผลศึกษาชี้คุ้มค่ากว่าเช่า เตรียมชง ครม.ใหม่ไฟเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.ไฟเขียวจัดซื้อแคร่ขนส่งสินค้า 946 คัน วงเงิน 2.45 พันล้านบาท ชงคมนาคม ยืนยันซื้อดีและคุ้มค่ากว่าเช่า คาดเสนอ ครม.ชุดใหม่ในปีนี้เพื่อทดแทนแคร่เก่า รองรับทางคู่ช่วยขยายตลาดขนส่งสินค้าสร้างรายได้เพิ่ม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน วันที่ 18 พ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศจำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ จะสรุปข้อมูลรายละเอียดโครงการเสนอกลับไปที่กระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า ดังกล่าวเป็นโครงการเดิมที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 บอร์ด รฟท.ได้เคยมีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินการจัดซื้อ โดยกระทรวงคมนาคมได้มีความเห็นว่าให้พิจารณาแนวทางอื่นๆ เปรียบเทียบเพิ่มเติมกับแนวทางจัดซื้อ เช่น ใช้เอาต์ซอร์ส หรือการเช่าดำเนินการ ดังนั้น รฟท.จึงได้นำโครงการกลับมาศึกษาทบทวน และสรุปการศึกษาพบว่ารูปแบบการจัดซื้อมีความคุ้มค่าในการดำเนินการมากที่สุด

โดยการเช่าดำเนินการพบว่าเอกชนผู้ให้เช่าต้องจัดหาแคร่สินค้า และบริการซ่อมบำรุง ซึ่งจะมีค่าลงทุนโรงซ่อมที่ค่อนข้างสูง จะส่งผลให้ค่าเช่าต่อชั่วโมงมีวงเงินสูงกว่าที่ รฟท.จัดซื้อ เนื่องจาก รฟท.มีศักยภาพในการซ่อมบำรุงเอง อีกทั้งประเมินว่าแคร่สินค้าจะมีวาระการซ่อมไม่มากเท่ารถโดยสารหรือรถจักร เพราะไม่มีเครื่องยนต์ และระบบไม่ซับซ้อน และสามารถบริหารจัดการ หมุนเวียนการใช้งานได้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า

ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท.มีแคร่สินค้าจำนวน 1,380 คัน ซึ่งมีเอกชนให้ความสนใจ ขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟมากขึ้น  และได้มีการทดลองใช้บริการขนส่งสินค้า เช่น เกลือ   ยางพารา ทุเรียน เหล็ก เป็นต้น ซึ่งได้รับผลลัพท์ด้าน การบริการและการลดต้นทุนได้ดี 

นอกจากนี้ มีเอกชนบางรายสนใจที่จะลงทุนจัดหาพื้นที่ และทำย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) เอง ซึ่งจะสามารถ ทำรางรถไฟเชื่อมกับเส้นทาง  รฟท. ได้ซึ่งนอกจากทำให้การชนส่งเกิดความสะดวกมากขึ้นแล้ว  รฟท.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเรียมค่าเชื่อมราง เป็นรายได้อีกทางได้อีก เพราะ มีระเบียบรองรับ

สำหรับการจัดหาแคร่สินค้าจำนวน 946 คันนั้นเป็นไปตามยุทธศาสตร์แผนฟื้นฟู รฟท. โดยเป็นการนำมาทดแทนของเก่าที่มีสภาพชำรุด และขยายการรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางรางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้จาก ธุรกิจสินค้ามีกำไรที่ดีมากกว่าด้านผู้โดยสาร แต่ รฟท.มีแคร่สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ที่กำลังจะแล้วเสร็จในหลายเส้นทาง รวมถึงการจัดหาหัวรถจักรเข้ามา ภาพรวมจะทำให้ขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มและสร้างรายได้เพิ่มให้รฟท.

จากการเปรียบเทียบรูปแบบการจัดหาระหว่างวิธีการซื้อของอะไรจำนวน 946 คัน กับรูปแบบการเข้าพร้อมกันซ่อมแซมบำรุงรักษาจำนวน 860 คัน โดยพบว่าในการจัดซื้อมีราคาเฉลี่ยคันละ 2.6 ล้านบาทมีค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 30 ปีประกอบด้วยเงินลงทุนวงเงิน 2,459.97 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 1,771.33 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุง 4,318.52 ล้านบาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,549.83 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อปี 244.28 ล้านบาท

กรณีเช่าดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาในอัตราค่าเช่าวันละ 1,300 บาทต่อคัน และ 2,250 บาทต่อคันจะมีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการระยะ 30 ปีประมาณ 12,242.1 ล้านบาท และ 21,188.25 ล้านบาทตามลำดับ หรือเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 360.06 ล้านบาท และ 623.18 ล้านบาท

“หลังจากนี้จะเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยืนยันว่า การซื้อคุ้มค่า ส่วนวงเงินจัดซื้อเป็นไปตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบจากปี 2563 โดยหลังจาก ครม.อนุมัติจะใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 7-8 เดือน โดยมีเงื่อนไขประกอบในประเทศและใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) 40% ส่วนอีก 60% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น โบกี้ ซึ่งไทยยังผลิตไม่ได้ โดยจะเป็นการกู้เงินมาจัดซื้อ และใช้รายได้ชำระคืนเงินกู้ คาดจะใช้เวลาจัดหาและได้รถใน 2 ปี”








กำลังโหลดความคิดเห็น