xs
xsm
sm
md
lg

ไทยต้องมี "ใบขับขี่รถไฟ" กรมรางเร่งวางเกณฑ์ เตรียมพร้อมออกกฎกระทรวง ยกระดับคุณภาพเทียบเท่าสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้าพูดถึงระบบราง สำหรับคนไทยนั้นมีรถไฟใช้มากว่า 100 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุครถจักรไอน้ำ สู่รถไฟดีเซล ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด ระยะทางกว่า 4,000 กม. ส่วนระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแผนพัฒนามี 14  เส้นทาง ระยะทาง 554 กม. ปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 11 เส้นทาง (7 สี) ระยะทาง 212 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 เส้นทาง และยังมีรถไฟความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง โดยกำลังก่อสร้าง 1 เส้นทาง  แน่นอนว่าทุกรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบราง โดยทุ่มงบในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในแง่การให้บริการ คนไทยอาจจะพบเจอปัญหาความไม่สะดวกสบาย เส้นทางยังไม่ครอบคลุม รถเสียขัดข้องบ่อย รวมไปถึงเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดหรือในเขตการเดินรถ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนร้ายแรงขั้นมีผู้เสียชีวิต 
ขณะที่มีคนไทยไม่น้อยที่เดินทางไปต่างประเทศได้มีโอกาสใช้บริการรถไฟฟ้า และพบว่ารถไฟฟ้าประเทศอื่นมีความสะดวกสบาย ภายในสถานีมีสิ่งอำนวยความสะดวก ครบครัน การเชื่อมต่อระหว่างสาย ป้ายบอกทางเข้าใจง่าย มีระบบตั๋วต่อกับขนส่งมวลชนอื่นที่เพิ่มความสะดวกและคุ้มค่า  

ปัจจุบันผู้ให้บริการระบบรางในประเทศไทยมีทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และส่วนที่เป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง โดยแต่ละเส้นทางมีโมเดลการลงทุนที่ต่างกัน คือ รูปแบบรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนบริหารการเดินรถ หรือเอกชนลงทุนทั้งโครงสร้างและเดินรถ โดยรัฐทยอยจ่ายคืนค่าโครงสร้าง 

“รูปแบบที่หลากหลาย มาตรฐานในการให้บริการและการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนค่าโดยสาร เป็นเหตุผล ที่ทำให้มีการจัดตั้ง "กรมการขนส่งทางราง" ขึ้นเมื่อ 15 เม.ย. 2562 มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล หรือ Operator ด้านขนส่งทางราง แม้ตั้ง "กรมราง" ได้แล้ว แต่ยังต้องรอกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ..ซึ่งร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 แล้ว ปัจจุบันรอจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ เสนอกลับไปอีกครั้ง”


ในระหว่างรอ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ กรมรางได้มีการจัดทำร่างรายละเอียดกฎหมายลูกแต่ละฉบับเพื่อเตรียมดำเนินการภายหลังกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญที่กรมรางดำเนินการ คือ โครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) เพื่อเตรียมการออกใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟและผู้ประจำหน้าที่ ตลอดจนการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เพื่อให้สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....

“คือ ผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ต้องมีใบอนุญาต, ผู้ปฏิบัติงาน คนขับรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และพนักงาน OCC หรือประจำศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ ต้องมีใบอนุญาต ส่วนรถขนส่งทางรางต้องจดทะเบียน และตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานตัวรถ”

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล กรมรางจึงได้ศึกษารูปแบบการกำกับดูแลระบบรางของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ และเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทย

@ถอดโมเดล "ไต้หวัน" ศึกษามาตรฐาน "ใบขับขี่รถไฟ"

โดยหนึ่งในกรณีการศึกษา คือ ขนส่งทางรางของไต้หวัน ซึ่งมี 4 ระบบ ได้แก่

1. รถไฟดีเซลรางระหว่างเมือง
2. รถไฟหัวกระสุน (รถไฟฟ้าความเร็วสูง) ความเร็ว 300 กม./ชม. 1 สาย
3. รถไฟฟ้า MRT 12 สาย
4. รถไฟพิเศษ Alishan Forest Railway เพื่อขนส่งไม้, Taiwan Sugar Railway ขนส่งน้ำตาล

โดยไต้หวันแบ่งหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

1. ระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง ซึ่งมีผู้ให้บริการ 2 ราย ประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมือง (TRA) และรถไฟความเร็วสูง (THSR) ซึ่งมีการกำกับดูแลโดย Railway Bureau (กรมการขนส่งทางรางของไต้หวัน)

2. ระบบรถไฟฟ้าในเมือง มีผู้ให้บริการขนส่งทางราง 5 ราย ได้แก่ เมืองไทเป 6 สาย (Taipei Rapid Transit Corporation : TRTC ), ไทเปใหม่ 2 สาย (New Taipei Metro Corporation : NTMC ), เถาหยวน 1 สาย (Taoyuan Metro Corporation : TYMC ), ไท่จง 1 สาย (Taichung Metro Corporation : TCMC ), เกาสง 2 สาย (Kaohsiung Rapid Transit Corporation : KRTC)


เดิมทีไต้หวันไม่มีการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางราง จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำ จึงได้มีการอบรมทดสอบความรู้ และเริ่มออกใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2007 และมีกฎหมายบังคับใช้ในปี 2014

โดยรถไฟในเมือง รถไฟระหว่างเมือง เจ้าหน้าที่ขับรถไฟจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ต้องผ่านการฝึกอบรมทดสอบข้อเขียน และภาคปฏิบัติ รวม 2 ปี ส่วนรถไฟความเร็วสูง จะต้องอบรมไม่น้อยกว่า 1,000 ชม. ใช้เวลารวมการสอบข้อเขียนและฝึกภาคปฏิบัติ รวมทั้งสิ้นประมาณ 10 เดือน โดย Railway Bureau จะเป็นผู้ออกใบอนุญาต โดยใบอนุญาตมีอายุ 6 ปี และทบทวนความรู้อย่างน้อย 1 ครั้งใน 3 ปีและต้องสอบใหม่หากใบอนุญาตหมดอายุมากกว่า 6 เดือน จะต้องกลับไปอบรมเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

“โดยรถไฟในเมือง รถไฟระหว่างเมือง ใช้เวลาอบรมนานถึง 2 ปี จึงจะได้ใบอนุญาต เนื่องจากมีรถไฟถึง 25 โมเดล ขณะที่ รถไฟความเร็วสูงมีโมเดลเดียว ซึ่งกรมรางไต้หวันให้ข้อมูลว่า เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว จะต้องมีการทบทวนความรู้ ซึ่งจะใช้วิธีสุ่มจากคำถาม 4,500 ข้อ ส่วนรถไฟความเร็วสูง สุ่มจากคำถาม 1,000 กว่าข้อ เรียกว่าเป็นการทบทวนความรู้ที่มีมาตรฐานสูงมาก โดยปัจจุบัน ไต้หวัน มีคนขับรถไฟความเร็วสูงได้รับใบอนุญาตไปแล้วกว่า 200 คน ส่วนรถไฟมีกว่า 2,000 คน หรือ ออกใบอนุญาตได้เฉลี่ยประมาณปีละ 10 กว่าคนเท่านั้น”

“ดูแล้วใบขับขี่รถไฟไม่ได้ทำกันง่ายๆ เมื่อเทียบกับใบขับขี่รถยนต์”

ในส่วนของการบำรุงรักษารถขนส่งทางราง ผู้ให้บริการเมื่อสั่งซื้อรถมาแล้วจะมีการขออนุมัติแผนการบำรุงรักษาจาก Railway Bureau และ Railway Bureau จะมีการสุ่มตรวจสอบการบำรุงรักษารถอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ


@รัฐบาลกลาง-ท้องถิ่น ลงทุนเอง ควบคุมคุณภาพ ค่าโดยสารได้ง่าย

ในเมืองไทเปมีผู้ให้บริการจำนวน 1 ราย คือ Taipei Rapid Transit corporation (TRTC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ดูแลเรื่องการให้บริการของรถไฟฟ้าในไทเป โดย TRTC มีผู้ถือหุ้น เป็น ไทเปซิตี้ สัดส่วน 73.75% นิวไทเปซิตี้ 8.75% กรมการขนส่ง 17.14% อื่นๆ 0.36% โดยก่อนจะประกอบกิจการขนส่งทางรางจะต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมการเดินรถหรือพนักงานขับรถจะต้องได้รับการฝึกอบรม และการทดสอบก่อนการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับรถไฟระหว่างเมือง

นอกจากนี้ ไต้หวันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินรถ โดยในไทเปมีรถไฟฟ้า 6 สาย มี 131 สถานี สถานีไทเป (Taipei Main Station) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าเมโทร (MRT) และที่นี่ยังเป็นศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ หรือ OCC ที่ดูแลควบคุม รถไฟฟ้า 4 สาย “สายสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน” โดยทั้ง 4 สายมีสถานีร่วมถึง 12 สถานี วิ่งบริการรวมประมาณ 2,400 เที่ยว

โดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์ OCC มี 7 ตำแหน่ง ทำงาน 24 ชม. แบ่ง 3 ชุด ชุดละ 23 คน ซึ่งกรณีฉุกเฉินจะมีแผนปฏิบัติการ และขั้นตอน การประเมินความเสี่ยง การแก้ปัญหา ในแต่ละตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน


รถไฟฟ้า 6 สาย จำนวน 131 สถานีนั้น มีกล้อง CCTV ถึง 11,000 ตัว และยังมีเครื่องเซ็นเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว 15 สถานี และติดตั้งเครื่องวัดความเร็วแรงลม (ไต้ฝุ่น) 5 สถานี เพื่อแจ้งเตือน และสามารถสั่งหยุดการเดินรถได้ทันท่วงที

ซี่งจะมีหัวข้อเกี่ยวกับความผิดปกติในระบบการให้บริการถึง 744 ข้อ (กรณี) เป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคน จะต้องรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุต้องทำอย่างไรโดยไม่สับสน ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็ว และเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการให้บริการ

เจ้าหน้าที่ในศูนย์ OCC จะต้องผ่านการอบรมเป็นเวลา 6 เดือน และได้รับใบรับรอง ซึ่งมีอายุ 1 ปี โดยจะมีการอบรม 8 ชม.ก่อนต่ออายุใบรับรอง

รถไฟฟ้าไต้หวันมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ตรวจจับปริมาณของผู้โดยสารภายในขบวนรถและแสดงข้อมูลผ่าน แอปพลิเคชัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มขบวนรถเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการใช้ระบบ AI เพื่อทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ภายในขบวนรถ อุปกรณ์ภายในสถานี ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมบำรุง ซึ่งส่งผลให้รถไฟมีความตรงเวลาสูงถึง 99.99% และมีความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากกว่า 95%

@ ตั้งเป้าพัฒนาระบบรางไทย "ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว" เทียบเท่ามาตรฐานสากล

“อธิภู จิตรานุเคราะห์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ประเทศไต้หวันมีความใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น ค่าครองชีพ และอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 20-65 บาท โดยเมืองไทเปมีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน ใช้รถไฟฟ้าเดินทางถึง 2 ล้านคน/วัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นเป้าหมายของไทยที่ต้องการผลักดันให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางมากๆ

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าไต้หวันยังรักษาระดับคุณภาพการให้บริการที่ดี และมีความปลอดภัย และมาตรการที่ทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ภายในสถานี มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการออกแบบเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและสะดวก หรือที่เรียกว่า Universal Design (UD) โดยจะเห็นว่ามีผู้สูงอายุใช้บริการรถไฟ รถไฟฟ้า ในการเดินทางจำนวนมาก

ขณะที่รัฐบาลกลางไต้หวันดูแลภาพรวม โดยรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และตั้งรัฐวิสาหกิจที่ท้องถิ่นถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อกัน และมีการทำโปรโมชันลดค่าโดยสารเพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะเดินทาง เช่น หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และต่อรถเมล์ภายใน 1 ชม. จะได้รับส่วนลดค่าโดยสารรถเมล์ 50% เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ กรมราง สามารถนำมาปรับใช้กับระบบรางของประเทศไทย พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางและระบบกำกับดูแลเพื่อนำมาประกอบการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา เทียบเท่ามาตรฐานของสากล โดยเฉพาะการลงทุนที่ให้รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นร่วมลงทุน ซึ่งประเทศไทยจะมีการดำเนินโครงการระบบรางในภูมิภาค ซึ่งการเปิดให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจะสร้างความเข้มแข็ง และเป็นโมเดลที่จะสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารได้”


ปัจจุบันไทยมีคนขับรถไฟ รถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมเดินรถรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน (เป็นคนขับของการรถไฟฯ ประมาณ 1,200 คน) โดยปัจจุบันรถไฟประสบปัญหาการขาดแคลนคนขับรถประมาณ 700 คน ส่วนรถทั้งตู้รถไฟ ตู้รถไฟฟ้า แคร่ขนส่งสินค้า มีรวมเกือบ 1 หมื่นคัน มีผู้โดยสารประมาณ 1.2 ล้านคนต่อวัน ขนส่งสินค้าประมาณ 1 ล้านตันต่อเดือน ซึ่งหากในอนาคตมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 และทางคู่สายใหม่ รถไฟฟ้าเสร็จ ปริมาณผู้โดยสารและสินค้าจะเพิ่มขึ้น และจะมีความต้องการคนขับรถและเจ้าหน้าที่อีกไม่น้อยกว่า 30% จากปัจจุบัน

กรมรางตั้งเป้าหมายว่า เมื่อ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มีผลบังคับใช้ และประกาศกฎกระทรวงการออกใบอนุญาต ผู้ให้บริการ ระบบราง คนขับรถไฟ รถไฟฟ้า เดิมจะได้รับใบอนุญาตแบบอัตโนมัติ เพราะถือเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน และเมื่อใบอนุญาตอายุครบ 5 ปีจะมีการตรวจสอบคุณภาพหลักเกณฑ์ ที่ประกาศเพื่อต่อใบอนุญาต นอกจากนี้กรมรางได้จัดทำกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตเป็นเวลา 10 ปี เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่

ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่บังคับใช้ กรมรางได้มีการประสานกับผู้ให้บริการทุกรายจัดส่งข้อมูลพื้นฐานของคนขับ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ OCC และข้อมูลตัวรถ เพื่อทำเป็นดาตาเบส พร้อมทั้งนำมาตรฐานและข้อเสนอแนะของกรมรางไปปรับปรุง และแก้ไขปัญหาไว้ก่อน

พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ เป็นกฎหมายที่รัฐบาล "พลเอก ประยุทธ์" ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ตกค้างหลังสภาฯ ผ่านวาระที่ 1 ทำให้คาราคาซัง รอลุ้นรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ชี้ชะตา!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น