“กกร.” เตรียมส่งหนังสือถึง "นายกฯ" เร็วๆ นี้เพื่อให้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนรับมือภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว หวั่นเอลนีโญทำปริมาณน้ำลดหายหวั่นซ้ำเติมผู้ประกอบการ ภาคการเกษตร หนุนราคาสินค้าอาหารแพงหลังสารพัดต้นทุนพุ่ง พร้อมร่อนหนังสือให้พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงเตรียมยื่นรัฐบาลใหม่ 6 เรื่องเร่งแก้ไขขับเคลื่อน ศก.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้กกร.เตรียมทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปีและระยะยาว เนื่องจากมีความกังวลความเสี่ยงภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีโอกาสเกิดขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณน้ำในภาคตะวันออกที่อาจลดลงกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร หากเตรียมรับมือไม่ทันจะเป็นการซ้ำเติมต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและราคาสินค้าเกษตรและอาหารปรับขึ้นต่อเนื่อง
“รัฐควรเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำเติมโรงงานในพื้นที่ที่อดีตขาดน้ำต้องมีการประหยัดและต้องลดการผลิต ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากดีเซลราคาแพงจนทำให้ต้องปรับราคาสินค้า ต่อมาก็เป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และแม้ค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 66 จะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วยยังถือว่าอยู่ในอัตราสูงทำให้ภาพรวมเฉลี่ยราคาสินค้าจะปรับราว 5-10% โดยขณะนี้เป็นการทยอยปรับและจะมีต่อเนื่องหลังกลางปีนี้เพราะบางส่วนยังแบกรับภาระต้นทุนเอาไว้” นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ กกร.ยังได้เตรียมทำหนังสือเพื่อส่งมอบแก่พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงเตรียมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยมี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้โตแบบยั่งยืน การแก้ไขปัญหาค่าพลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้าที่กระทบขีดแข่งขันของประเทศ ฯลฯ 2. ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย
4. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ฯลฯ 5. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วฯลฯ 6. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)
ทั้งนี้ กกร.ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ณ เดือน พ.ค.เช่นเดิมโดยจีดีโตได้ 3-3.5 % ส่งออก -1 ถึง 0% เงินเฟ้อ 2.7 ถึง 3.2% โดยมองว่าเศรษฐกิจประเทศหลักทยอยฟื้นตัว ประกอบกับเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยที่เริ่มติดลบน้อยลง โดยคาดว่าการส่งออกจะติดลบในครึ่งปีแรกและจะฟื้นตัวครึ่งปีหลังโดยมีการท่องเที่ยวเป็นตัวสนับสนุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีการประเมินว่าจะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารของโลกลดลง 20% โดยกังวลว่าภัยแล้งจะกระทบไทยเช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องเตรียมตัวเอาไว้เพราะสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบอาหารที่ไทยมีการส่งออกจำนวนมากแม้ว่าภาพรวมในประเทศจะไม่ขาดแคลนแต่ภัยแล้งจะกระทบต่อราคาสินค้าอาหารต่างๆ ให้สูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพราะกังวลว่ายิ่งช้าก็จะยิ่งกระทบต่อการจัดงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กกร.เป็นห่วงเรื่องน้ำเพราะน้ำต้นทุนในภูมิภาคตะวันออกของไทยค่อนข้างต่ำแต่ในเขตชลประทานก็ยังไม่ถือว่าวิกฤตเท่ากับปี 2558 แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ประมาท