xs
xsm
sm
md
lg

“อู่ตะเภา” สตาร์ทช้าแต่มาแน่ ปักหมุดตอกเข็มปี 67 เคาะประมูลรันเวย์ พ.ค.นี้-UTA เร่งปรับแผนพัฒนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เลขาฯ อีอีซี” เผย "อู่ตะเภาเมืองการบิน" สตาร์ทช้าแต่มาแน่ ปักหมุด NTP ตอกเข็มต้นปี 2567 กองทัพเรือเคาะ TOR รันเวย์ 2 ประมูล พ.ค.นี้ ด้าน UTA เร่งปรับแผน ลดไซส์เฟสแรก ลุยปั้นศูนย์ธุรกิจท่องเที่ยว บันเทิงครบวงจร

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า การก่อสร้างในส่วนของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานอาจจะล่าช้าไปบ้างเนื่องจากหลายปัจจัย ซึ่งนอกจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว โครงการนี้ไม่ใช่ทำแค่สนามบินแต่ยังมีการพัฒนาเป็นเมืองด้วย ทำให้ต้องมีระบบสาธารณูปโภคและระบบอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากสนามบินทั่วไปโดยสิ้นเชิง โดยสนามบินอู่ตะเภาเป็นประตูให้มีการเดินทางเข้ามาในพื้นที่อีอีซี แต่ที่ยากกว่าคือ จะทำอย่างไรให้มีคนใช้สนามบินเพื่อเข้ามาสู่อีอีซี ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ดังนั้นจึงใช้รูปแบบ PPP เพื่อให้มีการพัฒนาสนามบินและสร้างกิจกรรมเมืองการบินที่สร้างแรงกระตุ้น ให้เกิดการเดินทางผ่านสนามบินอู่ตะเภามายังเมืองการบิน และพื้นที่อีอีซี 

ขณะนี้ UTA ได้มีการศึกษาแนวทางการพัฒนาเมืองการบินและเตรียมความพร้อม การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานบันเทิงครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเมืองปลอดภาษี เป็นต้น 


“มีคำถาม ว่าหากไม่มีรถไฟความเร็วสูงสนามบินเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งมองในภาคเอกชน การมีทั้งรถไฟ และสนามบินด้วยกันดีที่สุด แต่การพัฒนาของ UTA คือสนามบินบวกกิจกรรม ส่วนรถไฟจะเป็นส่วนทำให้การเดินทางเข้ามาอีกทางที่สะดวก และเมื่อมีเมืองการบิน ก็จะทำให้ผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายจุฬากล่าว

สำหรับการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) นั้นเมื่อทำตามเงื่อนไขครบรัฐจะหารือกับเอกชนว่า จะพร้อมเริ่มก่อสร้างเมื่อใด โครงการ PPP รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้โครงการสำเร็จ และการออก NTP หมายถึงการเริ่มต้นนับอายุสัญญา


@กองทัพเรือประมูลรันเวย์ 2 พ.ค. 66 เคลียร์เงื่อนไข แหล่งเงิน เปิดทางรับเหมาไทยร่วม ตั้งเป้าเซ็นสัญญา ธ.ค. 66

พลเรือโท สมประสงค์ วิศลดิลกพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือพิเศษ กองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือรับผิดชอบงาน 2 ส่วนคือ ก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) มีกรอบวงเงิน 17,768 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติงบเพื่อดำเนินการถมดินปรับพื้นที่จำนวน 1,274.24 ล้านบาทแล้ว ปัจจุบันดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ

ส่วนงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 และทางขับ กรอบวงเงิน 16,493.76 ล้านบาทนั้น มีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินจากงบประมาณเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB ซึ่งแหล่งเงินมีเงื่อนไขในการจัดทำทีโออาร์ การออกประกาศ จึงต้องมีการเจรจาตกลงกัน เช่น คุณสมบัติและผลงานการก่อสร้างสนามบินย้อนหลัง 5 ปี ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งเงื่อนไขเดิมผู้รับเหมาไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เลย ใช้เวลา 4 เดือนจึงได้ข้อยุติ เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ทำให้มีความล่าช้า


โดยตามแผนการประกวดราคา วันที่ 15 มี.ค. 2566 ได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง (General Procurement Notice), เดือน พ.ค. 2566 ประกาศทีโออาร์ประกวดราคา, เดือน พ.ย. 2566 ประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้าง และเดือน ธ.ค. 2566 ลงนามสัญญากับผู้ได้รับการคัดเลือกและเริ่มก่อสร้างต้นปี 2567 โดยตั้งเป้าก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2570

ส่วนโครงการพัฒนาการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ซึ่งจะมีการพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อุตุนิยมวิทยาการบิน และพัฒนาการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) แผนดำเนินการ ปี 2564 -2569 สอดคล้องกับการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3


นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการอีอีซี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ในสัญญา UTA กำหนดเงื่อนไขในการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน NTP มี 5 ข้อ คือ

1. มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมสนามบิน ซึ่ง ครม.อนุมัติแล้ว กรมทางหลวง
เตรียมก่อสร้าง 2. ระบบไฟฟ้าประปา สาธารณูปโภค อีอีซีรับผิดชอบ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว 3. การรื้อย้าย อยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อส่งมอบพื้นที่ 4. กองทัพเรือประกาศประกวดราคาก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ว่าในเดือน พ.ค. นี้ 5. การทำแผนก่อสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อการวางตำแหน่งและบริหารสถานีรถไฟที่เชื่อมต่อและสอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร รวมถึงทำแผนตารางเดินรถไฟให้สอดคล้องกับสนามบินหารือใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะออก NTP และเริ่มก่อสร้างในปี 2567


@UTA เร่งปรับแผน ลดไซส์เฟสแรกตามดีมานด์ผู้โดยสาร

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) UTA เปิดเผยว่า ขณะนี้ UTA อยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งขยายเฟสการพัฒนาจาก 4 เป็น 6 โดยปรับเฟสแรกจากรองรับที่ 15 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี และเมื่อมีจำนวนผู้โดยสาร ถึงระดับ 80% ของขีดการรองรับ จะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 โดยหารือกับอีอีซี และที่ปรึกษา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เฟสแรก ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จากนั้นมีการทดสอบระบบด้วยคาดว่าเปิดให้บริการได้ในปี 2570

ตามแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การบินและผู้โดยสาร และองค์ประกอบของสนามบิน 2. Airport City โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย สันทนาการ การท่องเที่ยว 3. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Logistic Center) เพื่อตอบโจทย์การขนส่งสินค้าในภูมิภาคโดยเป็นศูนย์รวมและกระจายของขนส่ง 4 โหมดครบวงจร ทั้งทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางน้ำ หรือ Multimodel Transport

ส่วนที่สอง เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างและด้าน Operation ซึ่งที่ผ่านมา UTA ได้มีการออกแบบเพื่อเตรียมก่อสร้างและวางคอนเซ็ปต์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยประสานกับอีอีซี กองทัพเรือ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เรียบร้อย รวมถึง แนวคิดการพัฒนาทางธุรกิจที่จะก่อสร้างเมืองการบินใน 1-2 ปีนี้ แต่ตอบโจทย์ใน 5-10 ปีข้างหน้า ที่สามารถดึงดูดการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการด้าน Operation จัดเตรียมด้านบุคลากรในการให้บริการสนามบิน

ส่วนที่สาม เป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งอีอีซี กองทัพเรือ และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบิน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าหรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกัน โดย UTA ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาผู้บริหารสนามบินระดับโลก 3 ราย ประกอบด้วย

1. นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ประเทศญี่ปุ่น ดูแลด้านการบริหารจัดการสนามบินและการให้บริการดูแลลูกค้าในสนามบินเพราะเห็นว่าความเป็นคนญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อน จะให้คำแนะนำในการดูแลผู้โดยสารและลูกค้าได้ดี 2. มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ประเทศเยอรมนี ช่วยด้านการวางผังพัฒนาสนามบิน เพื่อให้การก่อสร้างมีการเชื่อมกันและไม่กระทบต่อการให้บริการ 3. ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านคาร์โก้ โลจิสติกส์ ซึ่งสนามบินฮ่องกงถือเป็นเกตเวย์ และเชี่ยวชาญการขนส่งสินค้าทางอากาศ เชื่อมขนส่งทางทะเล และฮ่องกง จะมีส่วนช่วยในการทำตลาดสู่ประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งของสนามบินอู่ตะเภาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น