xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โลกชะลอฉุด MPI มี.ค. 66 ลด 4.56% นัดถกโฟกัสกรุ๊ป 10 พ.ค.หลังพบหลายอุตฯ ร่วงหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.ลดลง 4.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนฉุดไตรมาสแรกลดตาม วิตกหลายอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่องฉุด MPI ดิ่งทั้ง HDD เฟอร์นิเจอร์ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เหล็ก ถุงมือยาง ฯลฯ นัดโฟกัสกรุ๊ปร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 พ.ค. หวังหาสาเหตุและแนวทางการช่วยเหลือ ขณะที่อากาศร้อนดันอุตฯ เครื่องปรับอากาศผลิตสูงสุดรอบ 8 ปี คาดเม็ดเงินเลือกตั้งหนุน MPI โตเพิ่ม 0.44-0.64%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 104.65 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.56% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 66) อยู่ที่ 101.07 หดตัว 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดือนมี.ค. 66 มีอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 66.06% และไตรมาสแรกปีนี้เฉลี่ยที่ 63.66% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เศรษฐกิจยังชะลอตัว

“ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.หากเทียบกับ ก.พ. 66 ที่ผ่านมาก็พบว่ามีทิศทางขยายตัว 5.47% โดยมีผลมาจากเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวจากการได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่องทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเริ่มขยายตัวดี คงจะต้องติดตามเดือน เม.ย. 66 เพราะมีการท่องเที่ยวมากแต่ก็มีวันหยุดเยอะเช่นกัน” นางวรรณกล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีฯปรับตัวลดลงและบางส่วนมีการลดลงต่อเนื่องถึง 10 เดือนที่ทำให้ สศอ.มีความกังวล เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือ HDD เฟอร์นิเจอร์ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เหล็ก และถุงมือยาง ฯลฯ ซึ่งทำให้ สศอ.เตรียมที่จะหารือกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการระดมสมองหรือโฟกัสกรุ๊ป วันที่ 10 พ.ค. 66 เพื่อที่จะได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยใดหรือไทยกำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อที่ภาครัฐจะได้หาแนวทางช่วยเหลือโดยจะทำการสรุปแนวทางเพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป


อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมหลักเดือน มี.ค. 66 ที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ เดือนมีนาคม ปี 2566 ได้แก่ รถยนต์ ขยายตัว 8.18 % จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นในรถยนต์หลายรุ่น ทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นซึ่งรวมไปถึงยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เติบโตอย่างมาก การกลั่นน้ำมันขยายตัว 6.15% จากการผลิตน้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น และเครื่องปรับอากาศที่มีการผลิตสูงสุดรอบ 8 ปี โดย MPI มี.ค.อยู่ที่ 144.39 ขยายตัวถึง 7.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปัจจัยหนุนคืออากาศร้อนจัด เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น ดักจับฝุ่น PM 2.5 ประหยัดพลังงาน ฯลฯ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว ขณะเดียวกันไทยยังมีการส่งออกเครื่องปรับอากาศเดือน มี.ค.มีมูลค่าสูงถึง 849.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกเป็นอับดับ 2 ของโลกรองจากจีน

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 66 คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่จะสามารถกระตุ้น GDP ภาคอุตสาหกรรม ได้ 0.33 -0.53% และกระตุ้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ได้ 0.44 -0.64% โดยมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเม็ดเงินที่มาจากงบประมาณในการจัดเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มูลค่า 5,945 ล้านบาท ส่วนที่สองเม็ดเงินที่มาจากค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมืองซึ่ง กกต.กำหนดไว้ให้ส.ส.เขตสามารถใช้จ่ายหาเสียงได้ 1.9 ล้านบาทต่อคน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาทต่อพรรค ซึ่งคาดว่ายอดค่าใช้จ่ายในกิจกรรมหาเสียงของพรรคการเมืองจะอยู่ที่ 21,664-30,368 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกมากที่สุด 5 อุตสาหกรรม คือ อุปกรณ์วิทยุและเครื่องเสียงเครื่องแต่งกายผลิตเพิ่มขึ้น น้ำมันเชื้อเพลิง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งพิมพ์และการพิมพ์โฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น