กรมทางหลวงสรุปแบบขยาย 4 เลน “ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้” 9.4 กม. ขยายถนน-สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทางรถไฟ ตั้งงบ 2,200 ล้านบาท คาดเสร็จปี 72
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า วันที่ 26 เม.ย. 2566 ทล.ได้จัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 356 (ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้) เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และผลการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความสมบูรณ์ต่อไป โดยมีนายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุม ที่โรงแรมอยุธยาแกรนด์โฮเต็ล ตำบลธนู จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ชี้แจง สรุปผลการศึกษาเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 356 กม.0+000 และจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 356 กม.9+401 ระยะทาง 9.401 กม. โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 2,200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2572
ทั้งนี้ แบ่งรูปแบบการพัฒนาเป็น 3 ส่วน
1. รูปแบบการปรับปรุงทางหลวง โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร กม.1+500 ถึง กม.9+400 มีเกาะกลางถนน แบบกดเป็นร่อง ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร ส่วนเกาะกลางบริเวณ กม.0+000-1+500 เป็นเกาะกลางแบบเกาะยก เพื่อให้ความกว้างสอดคล้องกับสะพานยกระดับข้ามทางแยกบ้านกรด
2. รูปแบบบริเวณจุดตัดทางแยก มี 3 แห่ง จุดแรกบริเวณทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนเอเชีย) ออกแบบเป็นสะพานยกระดับแบบเชื่อมโดยตรง (Directional Ramp) ข้ามทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวขวามุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ขนาด 1 ช่องจราจร จุดที่ 2 บริเวณทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 347 ออกแบบเป็นสะพานยกระดับแบบเชื่อมโดยตรง (Directional Ramp) 2 ทิศทางเลี้ยวขวามุ่งหน้าสุพรรณบุรี และเข้าตัวเมืองอยุธยาขนาด 1 ช่องจราจร จุดตัดที่ 3 บริเวณทางหลวงหมายเลข 356 กับถนนเทศบาลเมืองบ้านกรด ออกแบบเป็นสะพานยกระดับ (Flyover) ข้ามทางแยกและข้ามคลองบ้านกรด ขนาด 2 ช่องจราจร
3. รูปแบบโครงสร้างสะพานประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานเกาะเรียน) ออกแบบเป็นสะพานคานยื่นสมดุล (Balance Cantilever) โดยปรับปรุง และออกแบบสะพานใหม่เพิ่ม 1 สะพาน ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง, สะพานข้ามทางรถไฟ เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงแบบหล่อในที่ (Prestressed Concrete Bridge Slab) ออกแบบเป็นเสาเดี่ยว และสะพานข้ามคลองสาธารณะ ขนาด 2 ช่องจราจร มีจุดกลับรถขนาดเล็กบริเวณใต้สะพานและเชื่อมถนนท้องถิ่นเดิม
นอกจากนี้ มีแนวคิดการออกแบบและพัฒนาพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นเพื่อให้มีความโดดเด่นและเป็นจุดสังเกต (Land Mark) ซึ่งแบ่งลักษณะการใช้งานของแต่ละพื้นที่เป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. บริเวณใต้สะพานติดแม่น้ำเจ้าพระยา 2. บริเวณราวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 3. บริเวณจุดตัดแยกบ้านกรด 4. บริเวณแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32
และได้เตรียมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ครอบคลุมทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง เช่น กำหนดขอบเขตแนวเส้นทางโครงการให้ชัดเจน จำกัดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง หรือการติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราว ณ บริเวณพื้นที่อ่อนไหว เป็นต้น