"สกนช." เกาะติดราคาน้ำมันโลกใกล้ชิด โดยเฉพาะการประชุมเฟด 2-3 พ.ค.นี้หากราคาดีเซลโลกลดลงต่อเนื่องมีลุ้นลดราคาดีเซลรอบที่ 5 หลังล่าสุดกองทุนน้ำมันฯ เรียกเก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนฯแตะ 5.74 บาทต่อลิตร รับขณะนี้น้ำมันยังผันผวนสูง กางผลดำเนินงานครึ่งปีงบประมาณโชว์ฐานะกองทุนฯ เริ่มติดลบต่ำลงและลดดีเซลแล้ว 4 ครั้ง
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกนช.กำลังติดตามราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกใกล้ชิดเพื่อทบทวนราคาขายปลีกดีเซลที่ปัจจุบันอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ซึ่งหากตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องมีโอกาสที่จะลดราคาขายปลีกลงได้อีกครั้ง โดยต้องรอหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระหว่าง 2-3 พ.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าจะขยับดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวและทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกภาพรวมลดลงราคาจะมีแนวโน้มลดลงได้ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยโอเปกพลัส (Opec+) ลดกำลังการผลิตในเดือน พ.ค.นี้และจีนมีเศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ และความขัดแย้งจากกลุ่มประเทศที่สนับสนุนของฝ่ายรัสเซีย-ยูเครนที่ล้วนมีผลต่อระดับราคาน้ำมันเช่นกัน
"ณ วันที่ 26 เม.ย.มีการเก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯ 5.74 บาทต่อลิตร หากถามว่าลดราคาดีเซลลงได้ไหมก็ลดลงได้ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคามีความผันผวนสูงทำให้เรายังคงต้องรอดูก่อนโดยเฉพาะปัจจัยสำคัญในช่วงการประชุมเฟดว่าราคาจะไปในทิศทางใดเพื่อความชัดเจนถึงทิศทางซึ่งเราเฝ้าติดตามใกล้ชิดเพื่อบริหารเพราะกองทุนฯ เองก็ยังคงมีภาระหนี้อยู่ ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลค่าครองชีพประชาชน" นายวิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ครึ่งปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65-มี.ค. 66) พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหลังราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อ่อนตัวลงทำให้ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันฯ ที่เคยอุดหนุนราคาจนติดลบสูงสุดระดับ 130,671 ล้านบาทเดือน พ.ย. 65 ทยอยลดลง ณ 23 เม.ย. 66 เหลือติดลบ 85,586 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 38,749 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 46,837 ล้านบาท โดยล่าสุดมีเงินไหลเข้ารวมประมาณ 13,143 ล้านบาท (รวมรายได้น้ำมันและ LPG)
พร้อมกันนี้ ได้ลดราคาขายปลีกดีเซลให้ประชาชนรวม 4 ครั้ง ครั้งละ 0.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ดีเซลราคาเดิมที่ตรึงไว้ 34.94 บาทต่อลิตรมาสู่ระดับ 32.94 บาทต่อลิตรในปัจจุบันหลังจากที่คลังได้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ สกนช. และมีการขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาทจนถึง 20 ก.ค. 66
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวว่า การกู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องที่ สกนช.ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยบรรจุเป็นหนี้สาธารณของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาทปัจจุบัน สกนช.ทำการกู้ยืมไปแล้ว 30,000 ล้านบาทในช่วง พ.ย. 65 และเดือน เม.ย.กู้อีกวงเงิน 20,000 ล้านบาท ขณะนี้เงินเริ่มเข้ามาแล้ว และในเดือน พ.ค.เตรียมกู้อีก 20,000 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ต่อไป
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองเสนอปรับลดราคาดีเซลโดยเฉพาะบางพรรคการเมืองที่ลดดีเซลลงเหลือ 28 บาทต่อลิตรยังไม่ทราบรายละเอียดว่าดำเนินการด้วยวิธีใด ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นการถอดภาษีฯ และเว้นเก็บเงินเข้ากองทุนฯหรือไม่ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบต่อรายได้กองทุนฯ ที่ยังคงมีภาระหนี้ ดังนั้น สกนช.ได้เตรียมทำแบบจำลองแนวทาง (scenario) การปรับลดราคาดีเซลที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเป็นองค์ประกอบสำคัญ 3 แนวทาง คือ 1. กรณีเก็บภาษีฯ ดีเซลกลับมาเป็นเหมือนเดิม 2. การปรับขึ้นภาษีฯ ดีเซลแบบขั้นบันได และ 3. ลดภาษีฯ ดีเซลเช่นปัจจุบันโดยจะทำให้การเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เป็นอย่างไรและกองทุนฯ จะมีฐานะอย่างไรเพื่อที่จะเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาแนวทาง
"เราก็เตรียมพร้อมข้อมูลทำไว้ให้ซึ่งยึดหลักการ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ และแผนบริหารวิกฤตน้ำมัน ส่วนภาษีดีเซลฯ ที่ลดลง 5 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้อาจจะไม่ทันรัฐบาลใหม่ ก็คงต้องมาดูว่ารัฐบาลรักษาการจะดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องบริหารการเก็บเงินเข้าดีเซลฯ ไว้" นายพรชัยกล่าว