xs
xsm
sm
md
lg

“ลอรีอัล” ยกไทยตลาดยุทธศาสตร์ เร่งดันเวชสำอาง-น้ำหอมขึ้นแท่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดความงามทั่วโลกยังโต 6% หลังโควิดเล่นงานทะลุ 9.4 ล้านบาท ขณะที่ ลอรีอัล เผยไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์สำคัญ เดินหน้าเต็มตัวขยายตลาด พร้อมเป้าหมายผู้นำอีก 2 กลุ่มสินค้าให้ได้


นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา เปิดเผยว่า ในปี 2565 ตลาดความงามทั่วโลกเติบโตต่อเนื่อง 6% ด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.5 แสนล้านยูโร หรือราว 9.4 ล้านล้านบาท ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้สูงที่สุดที่ 41% ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 22% ผลิตภัณฑ์กลุ่มเมกอัพยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 16% ด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 11%

ปีที่ผ่านมาลอรีอัล กรุ๊ป เติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับโลกที่ 10.9% คิดเป็นมูลค่า 3.83 หมื่นล้านยูโร และทำยอดขายทั่วโลกได้สูงถึง 7,000 ล้านชิ้น และด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซของลอรีอัลขยายตัว 8.9% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 28% ของรายได้ทั่วโลก ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลที่ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และได้เริ่มต้นไตรมาสที่ 1 ปี 2566 อย่างแข็งแกร่งด้วยการเติบโตที่ 13%

นายแพทริคกล่าวด้วยว่า บริษัทแม่มองประเทศไทยเป็นตลาดหลักแห่งหนึ่งและเป็นตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วย โดยไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าตลาดความงามสูงเป็นลำดับต้นๆ ในกลุ่มตลาด SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ) โดยมีมูลค่ามากกว่า 1.49 แสนล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว (2565) เติบโตมากถึง 9.5% และไทยเป็นตลาดที่ติดท็อป 20 ระดับโลก และติดท็อป 5 ในกลุ่ม SAPMENA ของลอรีอัลโลกด้วย


สำหรับภาพรวมตลาดความงามในประเทศไทยปี 2565 มีมูลค่ารวมราว 1.49 แสนล้านบาท นำโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวถึงราว 60% ผลิตภัณฑ์ดูแลผม 20% เครื่องสำอาง 14% และน้ำหอม 6% โดยมีแนวโน้มเติบโตสองหลักด้วยผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญต่อการดูแลผิวและชอบลองนวัตกรรม

“สิ่งที่ยืนยันว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญจริงของลอรีอัล เช่น เวลาเรามีอะไรที่เป็นข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการ เทรนด์ อะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไทย เราก็จัดส่งข้อมูลให้กับบริษัทแม่ พิจารณาเพื่อวางแผนการตลาดการผลิตสินค้าใหม่ตรงต่อความต้องการจริง ตอนนี้มี 3 แบรนด์ในไทยที่เป็นไพล็อตโปรเจกต์ คือ เมย์เบลลีน การ์นิเย่ และลอรีอัลปารีส ที่จะผลิตสินค้าให้ตามที่เสนอไป และจะมีการนำเสนอแบรนด์ใหม่เข้ามาไทยเพิ่มด้วยแต่ต้องดูความเหมาะสมและการต้องการผู้บริโภคคนไทยด้วย ตอนนี้ไทยมีประมาณ 15 แบรนด์ จากพอร์ตทั้งหมดที่มีมากกว่า 30 แบรนด์” นายแพทริคกล่าว

คาดว่าภาพรวมสินค้าความงามในไทยในปี 2566 นี้จะมีการเติบโตที่ดี และคาดว่าในปีนี้ภาพรวมจะโตมากกว่า 20% และมูลค่าจะกลับไปเทียบเท่าเคียงกับก่อนที่เกิดสถานการณ์โควิดได้แล้ว เพราะความต้องการสินค้ามีเพิ่มขึ้น จากการที่เปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการ นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยมากขึ้น แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ กำลังซื้อของผู้บริโภค และการแข่งขันที่รุนแรง


เป้าหมายของลอรีอัลในไทยในปี 2566 นี้ ต้องการที่จะผลักดันกลุ่มสินค้าเวชสำอาง และน้ำหอม ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับ 1 อย่างถาวรให้ได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่อันดับสองในตลาดรวม เช่น เวชสำอาง เป็นตลาดที่เติบโตดีมากหลังจากเกิดโควิด แม้ว่ามีมูลค่าตลาดยังน้อยก็ตามแต่มีโอกาสมาก จึงทำให้มีการแข่งขันรุนแรง ต้องมีการออกสินค้าใหม่ การทำแคมเปญต่อเนื่องมากขึ้น ส่วนกลุ่มน้ำหอม มีการทำตลาดในไทย 3 แบรนด์ภายใต้การดำเนินงานของลอรีอัลเอง นอกจากนั้นก็จะเป็นแบรนด์ในเครือเช่นกันแต่จัดจำหน่ายโดยดิสทริบิวเตอร์รายอื่นทำให้ยอดขายไม่ได้นำมารวมในส่วนที่บริษัทดูแล ซึ่งถ้าหากมีการจัดการเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้บริษัท ก็จะทำให้ยอดขายรวมมากขึ้น อาจจะทำให้ยอดขายมากขึ้น

ส่วนลอรีอัล ประเทศไทย ในปี 2565 สามารถฟื้นตัวจากโควิดและมีอัตราเติบโตสองหลัก โดยได้ครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นำโดยแบรนด์การ์นิเย่ (Garnier) ที่เป็นแบรนด์ความงามและดูแลผิวอันดับ 1 ในประเทศไทย และเมย์เบลลีน นิวยอร์ก (Maybelline New York) อันดับ 1 ในกลุ่มเมกอัพ ในส่วนกลุ่มน้ำหอมนั้นลอรีอัลได้เติบโตก้าวสู่อันดับ 2 ด้วยน้ำหอมจากแบรนด์ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (Yves Saint Laurent Beauté) ลังโคม (Lancôme) และอาร์มานี (Giorgio Armani) จากแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง

นอกจากนี้ แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีแบรนด์ ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และเซราวี ยังสร้างปรากฏการณ์ในการเป็นแผนกที่มีการเติบโตสูงที่สุดในบริษัทถึง 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 3 ปี และได้มีการเปลี่ยนชื่อแผนกเป็น L’Oréal Dermatological Beauty จากเดิมคือ L’Oréal Active Cosmetics


กำลังโหลดความคิดเห็น