กทท.พลิกแผนเพิ่มรายได้ปี 66 หลังแนวโน้มปริมาณขนส่งตู้สินค้าลดลง รุกตลาดขนส่งรถยนต์หลังกระแสรถอีวีบูม ตั้งเป้ากำไรนิวไฮที่ 6.6 พันล้าน ดันตั้งสายเรือในประเทศ ส่วนระหว่างประเทศส่อแท้ง เหตุไม่คุ้มค่าแข่งขันไม่ไหว
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2565 กทท.ในการให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้า ที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ซึ่งเป็น 2 ท่าเรือหลัก รวมกันถึง 10.01 ล้านทีอียู สถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์นับจากก่อตั้ง กทท.มา 72 ปี แม้จะเป็นช่วงมีสถานการณ์โควิด-19 แต่การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการอยู่ในระดับดี
สำหรับปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าปริมาณตู้ลดลง 10-20% เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาและภาพรวมด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ยังมีปัญหาระหว่างประเทศ รัสเซียกับยูเครน และประเทศจีนกับไต้หวัน รวมถึงปัญหาความมั่นคงของเศรษฐกิจในบางประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่ง
กทท.มีการหารือร่วมกับสายเดินเรือเพื่อเตรียมความพร้อม โดยมีสัญญาณจากที่ มียอดจองระวางตู้ที่ลดลง
ผอ.กทท.กล่าวว่า ปริมาณตู้สินค้าที่ลดลง อาจจะส่งผลต่อรายได้ ซึ่ง กทท.ได้วางการบริหารจัดการเพื่อหารายได้เพิ่มจากส่วนอื่นๆ โดยขณะนี้แนวโน้มการขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์ หรือ Ro-Ro เพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกับช่วงโควิดที่มีการล็อกดาวน์ ความต้องการใช้รถยนต์ลดลง โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถอีวี) ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ประกอบกับนโยบายส่งเสริมพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดด้วย
นอกจากนี้ กทท.จะเพิ่มสัดส่วนการหารายได้อื่นๆ เช่น รายได้จากเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (เรือครูซ) ที่มีนักท่องเที่ยว 2,000-6,000 คน ซึ่งจากการเปิดประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่่เริ่มเข้าเทียบท่า ประเทศไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ จะเดินหน้าหารายได้จากการบริหารทรัพย์สินด้วย โดยประเมินว่าปี 2566 แม้ปริมาณตู้สินค้าอาจจะลดลง แต่ กทท.จะรักษาระดับรายได้ไว้ โดยผลประกอบการปี 2565 มีรายได้สุทธิ 16,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.77% มีกำไร 6,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.26% โดยคาดว่าปี 2566 จะกำไรเพิ่มประมาณ 5% หรือมีกำไรประมาณ 6,600 ล้านบาท นับเป็นกำไรสูงสุดที่เคยทำได้ และ กทท.จัดส่งกำไรเข้าคลัง สัดส่วน 70%
"เป็นเป้าหมายในการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา เพราะธุรกิจมีขาขึ้นและขาลง เพื่อให้มีกำไรทางการเงินแล้ว กทท.ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และชุมชน การเป็น Green Port ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้เกิดการเชื่อมโยงการขนส่งเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ ซึ่งถือเป็นกำไรในเชิงเศรษฐศาสตร์ และกำไรเชิงสังคม ให้ครบทุกมิติด้วย"
@ดันตั้งสายเรือในประเทศ ส่วนระหว่างประเทศส่อแท้ง เหตุไม่คุ้มค่าแข่งขันไม่ไหว
ผอ.กทท.กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติว่า ได้สรุปผลการศึกษาเสนอกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยเดิมค่าระวางมีการปรับขึ้นระดับ 300-1,000 บาท สูงสุดที่ 1,500 บาท หรือ 15 เท่า แต่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทำให้อัตราค่าระวางอยู่ในทิศทางลดลง จากระดับ 100 บาทเหลือ 80 บาท ซึ่งสวนทางกับสมมติฐานในการศึกษา ทำให้เป็นปัจจัยกระทบการตั้งสายเดินเรือ เส้นทางการเดินเรือต่างประเทศที่ไม่คุ้มค่าและอาจจะเกิดขึ้นยาก
ส่วนสายเดินเรือเส้นทางภายในประเทศ ยังมีความเป็นไปได้ในการขนส่งสินค้า เส้นทางชายฝั่ง เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ เนื่องจากมาบตาพุดมีปริมาณสินค้าประมาณ 4 แสนทีอียู/ปี ปัจจุบันต้องขนส่งทางถนนทั้งหมด เส้นทางเดินเรือนี้จะทำให้เกิดการชิฟต์โหมดจากทางถนนสู่ทางน้ำและทำให้มีการเพิ่มปริมาณสินค้าได้อีกตามไปด้วย
และมีอีก 2 เส้นทาง คือท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) และเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)-ท่าเรือสุราษฎร์ธานี ที่มีปัจจัยสนับสนุนให้เป็นไปได้ คือความคุ้มค่าด้านสิ่งแวดล้อม ลดอุบัติเหตุ