สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีน (China Printed Circuit Association) นำคณะผู้ผลิต PCB และซัปพลายเชนที่เกี่ยวข้องกว่า 60 ราย เข้าพบบีโอไอ เตรียมแผนขยายลงทุนในไทยแบบคลัสเตอร์ เล็งใช้ไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรพิมพ์ส่งออกตลาดโลก บีโอไอเผยไตรมาสแรก มีคำขอส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิต PCB กว่า 14,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของประเทศจีน (China Printed Circuit Association) ได้ประสานกับสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย นำคณะผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) และซัปพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เช่น วัตถุดิบและเครื่องจักร รวมกว่า 60 ราย เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-22 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้เข้าพบหารือกับบีโอไอเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เพื่อรับทราบข้อมูลโอกาสการลงทุน มาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) นับเป็นชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
โดยอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ของจีน เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท (3.4 แสนล้านหยวน) และมีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกว่า 6.2 แสนคน ซึ่งในการเดินทางเยือนประเทศจีนของคณะบีโอไอและ กนอ.เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้พบกับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ ได้แก่ WUS Printed Circuit (Kunshan) และ ASKPCB ซึ่งทั้งสองบริษัทมีแผนลงทุนในไทยรวมกันกว่า 12,000 ล้านบาท และยังได้หารือเรื่องการนำ supplier บางส่วนย้ายตามมาลงทุนในไทยอีกกว่า 200 บริษัทด้วย
“ขณะนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีนกำลังเผชิญแรงกดดัน จำเป็นต้องเร่งหาแหล่งผลิตที่ 2 นอกประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าและบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวโน้มจะขยายฐานผลิตมาที่ไทยจำนวนมาก เพราะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของไทยที่มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการยกระดับอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มากขึ้นด้วย” นายนฤตม์กล่าว
การเข้าพบบีโอไอครั้งนี้ สมาชิกของสมาคมฯ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจขยายการลงทุนมายังประเทศไทย โดยจะทยอยเข้ามาลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่จะประกอบด้วยผู้ผลิต PCB รวมถึงวัตถุดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งจะมาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยได้สอบถามรายละเอียดสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน ข้อมูลนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้า กฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ การถือหุ้นของต่างชาติ และการอำนวยความสะดวกในการนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเตรียมการจัดตั้งธุรกิจและติดตั้งเครื่องจักร
“ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีของไทยที่จะโหมดึงการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีน ซึ่งจะสร้างการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก บีโอไอจะใช้โอกาสนี้ส่งเสริมให้บริษัทไทยที่มีศักยภาพเข้าไปอยู่ในซัปพลายเชนนี้ด้วย ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด” นายนฤตม์กล่าว
ทั้งนี้ สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิต PCB ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) มีจำนวน 18) มูลค่าลงทุน 39,067 ล้านบาท และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2566) มีจำนวน 5 โครงการ มูลค่าลงทุน 14,036 ล้านบาท
นอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยของสมาคมผู้ผลิต PCB ของจีนแล้ว ในเร็วๆ นี้จะมีคณะผู้ผลิต PCB รายอื่นๆ เดินทางมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมผู้ผลิต PCB ของฮ่องกงจะนำสมาชิกกว่า 30 ราย เดินทางมาในเดือนมิถุนายน 2566 และสมาคมผู้ผลิต PCB ของไต้หวัน จะนำสมาชิกกว่า 10 ราย มาในเดือนกรกฎาคม 2566 ด้วย