แม้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 แล้ว แต่เป็นห้วงเวลาเปลี่ยนรัฐบาล ขั้นตอนจึงต้องรอรัฐบาลใหม่มาดำเนินการ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 คาดว่าประมาณเดือน ส.ค. 2566 กว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ ซึ่งภารกิจเร่งด่วนคือการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งหากเป็นขั้วใหม่ และมีการทบทวนกรอบงบประมาณ อีกทั้งยังมีกระบวนการทางรัฐสภาอีก ซึ่งจะทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ต้องล่าช้าออกไปถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 หรือประมาณเดือน ม.ค.- มี.ค. 2567
โดยแนวทางการบริหารงานในปี 2567 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ในขณะที่พ.ร.บ.งบประมาณฯ ยังไม่ประกาศใช้นั้น จะเป็นรูปแบบการใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน เป็นเวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงบประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ และโครงการลงทุนเดิมที่มีการลงนามสัญญาผูกพันงบไว้แล้ว
“ขณะที่ประเมินว่าหลังงบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ จะเหลือระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือนเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2567 ไม่มากก็น้อยแน่นอน”
@เปิดงบ "คมนาคม" ปี 67 ได้รับจัดสรรกว่า 1.83 แสนล้านบาท
กระทรวงคมนาคมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2567 (9 หน่วยงานราชการ) วงเงิน 183,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,637.11 ล้านบาท (ปี 2566 ได้รับจัดสรร 180,312.92 ล้านบาท) โดยถือเป็นกระทรวงฯ ที่ได้รับงบประมาณในลำดับที่ 5 โดยอันดับที่ 1 กระทรวงมหาดไทยได้รับ 351,985.3 ล้านบาท 2. กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท 3. กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท 4. กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท
โดยภารกิจหลักของกระทรวงคมนาคม คือ การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทั้ง ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ทุกภาค และเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ให้ผู้ที่อยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคม ขนส่งอย่างเท่าเทียมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า หรือผลิตผลทางการเกษตรจากแหล่งผลิตสู่โรงงานหรือแหล่งการค้า ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมามีการก่อสร้างพัฒนาจำนวนมากที่เกิดการกระจายรายได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในภาพรวมของกระทรวงคมนาคม (9 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ) รวมทั้งสิ้น วงเงิน 238,002.05 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 30,431.54 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 207,570.50 ล้านบาท
โดย 9 ส่วนราชการได้รับจัดสรรกรอบ วงเงินรวม 183,950.03 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 11,701.54 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 172,248.48 ล้านบาท)
ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรมากสุด วงเงิน 120,961.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 118,816.62 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 5,413.03 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 115,545.67 ล้านบาท)
รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับวงเงิน 47,928.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 47,108.91 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 1,447.96 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 46,480.25 ล้านบาท)
อีก 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับวงเงิน 677.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 514.50 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 442.30 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 235.42 ล้านบาท)
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับวงเงิน 3,587.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 3,545.81 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 2,657.89 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 929.34 ล้านบาท)
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รับวงเงิน 167.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 116.33 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 128.71 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 39.12 ล้านบาท)
กรมเจ้าท่า (จท.) ได้รับวงเงิน 4,773.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 4,707.40 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 916.74 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 3,856.31 ล้านบาท)
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับวงเงิน 5,162.85 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 5,221.20 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 480.98 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 4,681.87 ล้านบาท)
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับวงเงิน 282 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่ได้รับวงเงิน 282.12 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 159.88 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 122.12 ล้านบาท)
สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ได้รับวงเงิน 409.92 ล้านบาท ( เพิ่งได้รับจัดตั้งในปี 2566) (รายจ่ายประจำ 51.56 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 358.36 ล้านบาท)
ส่วน 5 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับจัดสรรกรอบวงเงินรวม 54,052.01 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 18,729.99 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 35,322.01 ล้านบาท)
โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับจัดสรรมากที่สุด วงเงิน 23,457.74 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 5,825.42 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 17,632.32 ล้านบาท)
รองลงมาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับจัดสรร 23,135.61 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 8,380.82 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 14,754.78 ล้านบาท)
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รับ 4,416.78 ล้านบาท (เป็นรายจ่ายประจำทั้งหมด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับ 2,866.79 ล้านบาท (รายจ่ายลงทุนทั้งหมด) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้รับ 175.08 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 106.96 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 68.12 ล้านบาท) สำหรับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
@กรมทางหลวง "ออกแบบ-ทำทีโออาร์" ล่วงหน้า
กรณีงบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้า กระทบต่อการเบิกจ่าย และส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่เกิดจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเกิดอาการหดตัว หรือไม่เติบโตตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งคือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การซ่อมสร้างต่างๆ โดยกระทรวงคมนาคมมี 2 หน่วยงานหลัก คือ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ที่กำเม็ดเงินงบประมาณส่วนของการลงทุนรวมกันถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ได้เตรียมความพร้อมในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ไว้แล้ว เพราะคาดว่าจะมีเวลาใช้จ่าย 6-8 เดือนเท่านั้น โดยงบลงทุนรายการใหม่ (ปีเดียว) และงบลงทุนรายการผูกพันใหม่ที่มีประมาณ 3,000 โครงการ วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ที่การประมูลและลงนามสัญญาได้จะต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้
ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะมีการเตรียมความพร้อมของโครงการไว้ก่อน โดยตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 เช่น การออกแบบ และทำร่างทีโออาร์ เพื่อให้สามารถเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างได้ทันทีเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประกาศใช้
“เราเคยมีประสบการณ์กรณี พ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าช้ามาแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงาน และมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณ”
@ ลุ้นโครงการใหม่ เสี่ยงโดนเขย่างบลงทุน บิ๊กโปรเจกต์สะดุด
โดยโครงการสำคัญตามรายงานคำของบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ในส่วนของกรมทางหลวง ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ผูกพัน 3 ปี (2567-2569 ) มี 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา วงเงินรวม 835.7397 ล้านบาท (ตั้งกรอบงบปี 2567 วงเงิน 334.2959 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 334.2959 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 167.1479 ล้านบาท)
สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ระยะทางรวม 1.92 กิโลเมตร วงเงินรวม 4,508 ล้านบาท ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน และจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 108 ล้านบาท และสมทบกับแหล่งเงินกู้อีกส่วนหนึ่ง
2. โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สาย แยกทางหลวงหมายเลข 9 (บ.บางเตย) -บรรจบทางหลวงหมายเลข 3214 (บ.พร้าว) วงเงินรวม 6,450 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 1,290 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 2,580 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 2,580 ล้านบาท)
3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 103 สาย อ.ร้องกวาง-อ.งาวตอน บ.วังดิน -บ.แม่ตีบหลวง วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 360 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 720 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 720 ล้านบาท)
4. โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 และทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบ๊ะ) วงเงินรวม 900 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 180 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 360 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 360ล้านบาท)
5. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายโพนพิสัย-บึงกาฬ ตอนปากคาด -บ.สมประสงค์ วงเงินรวม 800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 160 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 320 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 320 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการตามนโยบายรัฐบาลจากการประชุม ครม.นอกสถานที่ เช่น ทางหลวงหมายเลข 103 สาย อ.ร้องกวาง-อ.งาวตอน บ.วังดิน-บ.แม่ตีบหลวง วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 360 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 720 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 720 ล้านบาท)
ทางหลวงหมายเลข 21 สาย อ.หล่มเก่า-เลย ตอน ต.ร่องจิก-ต.สานตม วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 400 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 800 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 800 ล้านบาท)
ทางหลวงหมายเลข 1020 สายเชียงราย-อ.เชียงของ ตอน บ.หัวดอย-บ.ใหม่ดอยลาน วงเงินรวม 1,100 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 220 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 440 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 440 ล้านบาท)
โครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับมอเตอร์เวย์ (MR-MAP) และการเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ได้แก่
- โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาศึกษาและทบทวนรูปแบบมอเตอร์เวย์ สายถนนวงแหวนรอบนอก กทม. รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 305-บรรจบทางหลวงหมายเลข 34 วงเงิน 12.4 ล้านบาท ตอนแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32-บรรจบ ทางหลวงหมายเลข 305 ส่วนที่ 1, 2 วงเงิน 22 ล้านบาท
- โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบมอเตอร์เวย์ สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 2 ส่วนที่ 1 และ 2 วงเงินรวม 148 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 29.6 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 118.4 ล้านบาท)
- การเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,028.5158 ล้านบาท
กรมทางหลวงชนบทมีโครงการสำคัญ เช่น 1. ถนนสาย อย.3011 แยก ทล.347 -บ.โคก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงินรวม 410 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 82 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 164 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 164 ล้านบาท)
2. ถนนเลียบแม่น้ำโขง นาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2)-พระธาตุพนม อ.เมือง, ธาตุพนม จ.มุกดาหาร, นครพนม วงเงินรวม 510 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 102 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 204 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 204 ล้านบาท)
3. ถนนสายแยก ทล.11-ทล.1 อ.เมือง จ.ลำปาง (ตอนที่ 1) วงเงินรวม 680 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 136 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 272 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 272 ล้านบาท)
4. ถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 360 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 720 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 720 ล้านบาท)
5. ถนนสายส่วนต่อขยายถนนเฉลิมพระเกียรติ (ตอนที่ 1) จ.นครศรีธรรมราช วงเงินรวม 620 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 124 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 248 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 248 ล้านบาท)
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี 2 โครงการสำคัญ คือ ทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงินงบประมาณ 2,877 ล้านบาท และ ทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงินงบประมาณ 2,018.69 ล้านบาท
หลังมีรัฐบาลใหม่ งบประมาณปี 2567 อาจจะถูกปรับเขย่า...เกลี่ยกันใหม่ ยิ่งทุกพรรคการเมืองโหมนโยบายหาเสียง “แจกเงิน...เพิ่มสวัสดิการ” เอาใจประชาชนกันเต็มที่...โดยเฉพาะงบลงทุนคมนาคมที่มีกว่า 2 แสนล้านบาท และโครงการใหม่ยังมีความเสี่ยง ที่อาจจะถูกตัด หรือชะลอไปก่อน!!!