xs
xsm
sm
md
lg

“อิมแพ็ค” เร่งโตกลุ่มฟูด 3 พันล้านปีนี้ ปรับโฉมขยายสาขา-แตกบริการใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - อิมแพ็ครุกหนักธุรกิจร้านอาหาร ชู 2 กลยุทธ์หลักปั้นรายได้ ปรับโฉมร้านอาหารบนพื้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพิ่มความแปลกใหม่ ส่งแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ สึโบฮาจิ-ร้านกาแฟเชนฮ่องกง เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ ขยายสาขานอกศูนย์ฯ เพิ่มรายได้จากธุรกิจร้านอาหารทุกรูปแบบ ทั้งบริการแคเทอริ่ง ดีลิเวอรี ตั้งเป้าปี 2569 รายได้ธุรกิจร้านอาหารทะลุ 3,000 ล้านบาทตามแผน

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และร้านอาหารในเครือจำนวน 19 แบรนด์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจร้านอาหารของไทยเติบโตขึ้น จากปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก รวมถึงผู้บริโภคในประเทศก็ออกมาใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอย รับประทานอาหารนอกบ้านตามปกติมากขึ้น ซึ่งข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจอาหารในไทยปีนี้จะเติบโต 2.7-4.5% จากปี 2565 หรือมีมูลค่าประมาณ 4.18-4.25 แสนล้านบาท
 


โดยพื้นที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีจำนวนการจัดงาน ผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านอาหารในเครือก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันมีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 19 แบรนด์ รวม 32 สาขา แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มร้านอาหารจีน 4 แบรนด์ ได้แก่ ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน, ฮ่องกง คาเฟ่, ฮ่องกงสุกี้ และ เฮยยิน, 2. กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 2 แบรนด์ คือ สึโบฮาจิ และไทโช เต ราเมน, 3. กลุ่มร้านกาแฟ 2 แบรนด์ ได้แก่ เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ และอีส คาเฟ่, 4. กลุ่มร้านอาหารนานาชาติ 9 แบรนด์ ได้แก่ ทองหล่อ, เทอราซซ่า, อีสาน แอ็ท อารีน่า, อีสานจิ้มจุ่ม, แจ็คกี้ ซีฟู้ด, บรีซ คาเฟ่ แอนด์ บาร์, อุวะจิมะ, อิมแพ็ค ฟาร์ม และ Beverage Bar และ 5. กลุ่มผับและบาร์ รวม 2 แบรนด์ คือ ฟลาน โอเบรียนส์ ไอริส ผับ และเรโทร บาร์ แอนด์ คาเฟ่

สำหรับทิศทางปี 2566 นี้ จะให้ความสำคัญต่อธุรกิจร้านอาหารต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่ 2 กลยุทธ์หลักเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจนี้ ได้แก่ 1. การปรับโฉม การขยายสาขาใหม่ โดยร้านอาหารที่อยู่บนพื้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะเน้นการปรับโฉมเป็นหลัก เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ จัดโซนร้านอาหารตามประเภทอาหารให้ชัดเจน เพิ่มพื้นที่นั่งสำหรับพบปะสังสรรค์ของกลุ่มเพื่อน (Hang Out) ในแต่ละร้านมากขึ้น เป็นต้น เพื่อรองรับกลุ่มผู้จัดงาน ผู้เข้ามาใช้บริการ ร้านอาหารภายในศูนย์ โดยเฉพาะงานระดับอินเตอร์เนชันแนล ซึ่งหมุนเวียนเข้ามาจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีเพิ่มขึ้น


ส่วนการขยายสาขานอกพื้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง จะโฟกัสไปที่ร้านอาหาร 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ สึโบฮาจิ ร้านอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับจากฮอกไกโด โดยได้เปิดสาขาที่ 7 โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มร้านกาแฟ เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ จะเน้นเปิดร้านรูปแบบคีออสก์ (Kiosk) มากขึ้นตามพื้นที่อาคาร สำนักงาน


ขณะเดียวกัน ร้านอาหารเครืออิมแพ็คให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเมนูอาหารของร้านอาหารในเครือจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ผักและผลไม้ออร์แกนิกจากโครงการเพื่อสังคม “อิมแพ็ค ฟาร์ม” ซึ่งทำหน้าที่รับซื้อผัก ผลไม้ จากภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์เมนูต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการร้านอาหารเครืออิมแพ็ค จึงมั่นใจได้ว่าได้รับประทานอาหารที่สด สะอาด และปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการรุกหนักธุรกิจร้านอาหารครั้งนี้ ทั้งการปรับโฉมร้านอาหารภายในศูนย์ฯ การขยายสาขาใหม่นอกพื้นที่ และการแตกบริการใหม่ของร้านอาหาร จะช่วยเพิ่มสีสันให้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ฯ พร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้รายได้จากธุรกิจร้านอาหารเติบโตขึ้น ตามแผนที่วางไว้ว่าภายในปี 2569 อิมแพ็คจะมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน





กำลังโหลดความคิดเห็น