“แหลมฉบังเฟส 3” สุดอืด งานถมทะเล สร้างเขื่อนสปีดไม่ขึ้น ตกแผนเกือบ 2 ปี แม้ได้ขยายเวลาจากผลกระทบโควิด คาดผู้รับเหมาโดนค่าปรับอ่วม โจทย์ กทท.เร่งแก้ ส่อเลื่อนแผนส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC เข้าก่อสร้าง กระทบเปิดบริการไม่ทันปี 68
รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ว่า ในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่กทท.ดำเนินงาน คือ การก่อสร้างงานทางทะเลเพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ถนนและระบบสาธารณูปโภค ระบบรถไฟ จำนวน 4 งานนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง งานที่ 1 คือ การขุดลอก ถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่ง กทท.ได้ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) วงเงิน 21,320 ล้านบาท เป็นผู้รับจ้าง ไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปีกำหนดแล้วเสร็จ วันที่ 3 พ.ค. 2568 ซึ่งพบว่าขณะนี้ผลงานมีความล่าช้ากว่า 40% หรือเกือบ 2 ปีแล้ว โดยมีค่าปรับวันละ 0.01% หรือวันละ 2.132 ล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยหนังสือเวียนกรมบัญชีกลาง ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว693 ลงวันที่ 6 ส.ค. 2564 ยกเว้นค่าปรับ ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางมีหนังสือที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 1459 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2565 มาตรการเร่งรัดการปฏิบัติงาน สำหรับสัญญาที่ได้รับการช่วยเหลือให้อัตราค่าปรับเป็นร้อยละ 0 โดยให้หน่วยงานเจรจาคู่สัญญาเพื่อปรับแผนงานใหม่ และแก้ไขสัญญาให้ตรงกับความเป็นจริง โดยไม่เกินเวลาที่ได้รับการขยาย ตั้งแต่ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานพิจารณาและส่งร่างสัญญาแก้ไขให้อัยการสูงสุดตรวจสอบเพื่อลงนามแก้ไขสัญญาโดยไม่ต้องเสนอ ครม. ซึ่งโครงการนี้จะได้ขยายเวลาอีกจำนวน 442 วัน
@เร่งไม่ขึ้น งานถมทะเลเกือบ 2 ปี ดีเลย์กว่า 40%
โดยโครงการขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่นนั้น แบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง คือ Key Date 1 กำหนดแล้วเสร็จหลังจากออก NTP 1 ปี หรือในวันที่ 4 พ.ค. 2565 โดยต้องก่อสร้างและส่งพื้นที่ถมทะเลในโซน A จำนวน 3 แสนลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่า งานล่าช้าและมีการปรับแผนงานใหม่ขยายเป็นวันที่ 31 ส.ค. 2565 เสร็จส่งมอบเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ล่าช้า 118 วัน ค่าปรับวันละ 1.5 แสนบาท (คิดเป็นค่าปรับจำนวน 17.7 ล้านบาท )
Key Date 2 เป็นการขุดดินและขนย้ายดินเลนจำนวน 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งม่านกันตะกอน 2 ชั้น ซึ่งพื้นที่อยู่ติดกับ เฟส 2 โดยต้องส่งมอบพื้นที่ถมทะเลอีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร กำหนดเสร็จตามสัญญา วันที่ 5 พ.ย. 2565 เคยมีการปรับแผนขยายเป็นวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ปรับตามมาตรการฯ โควิด-19 ขยายเป็นเดือน มิ.ย. 2566 ปัจจุบันกำลังดำเนินการ ซึ่งตามผลงานจริงคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2566 หรือล่าช้าประมาณ 4-5 เดือน โดยมีค่าปรับวันละ 5 แสนบาท
Key Date 3 ถมทะเล และก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล ระยะทางประมาณ 6-7 กม. กำหนดภายใน 2 ปี หรือในวันที่ 5 พ.ค. 2566 ปรับแผนตามมาตรการฯ โควิด จะแล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค. 2567 ซึ่งตามเงื่อนไขการถมทะเลและก่อสร้างเขื่อนเดิมต้องการให้แล้วเสร็จใน พ.ค. 2566 เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทาน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เข้าดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ลานวางตู้ อาคารสำนักงาน ติดตั้งเครื่องมือ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อเปิดดำเนินการในระยะแรกได้ในปลายปี 2568
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากประเมินกรณีที่ไม่มีการเพิ่มเครื่องจักรเข้ามาเร่งรัดงาน Key Date 3 จะแล้วเสร็จจริงประมาณเดือนส.ค. 2567 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนหลังปรับขยายเวลาเล็กน้อย โดยมีค่าปรับวันละ 2.5 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีเหตุอื่นๆ เช่น เกิดพายุ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้การทำงานล่าช้าออกไปได้อีก
“Key Date 3 ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ GPC เข้าไปตอกเสาเข็มเริ่มก่อสร้าง แต่หากส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ส่งผลให้การก่อสร้างของ GPC ต้องล่าช้าออกไป จะมีผลกระทบต่อการดำเนินการ และรายได้จากการเปิดให้บริการหายไปด้วย สุดท้ายคือ กระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ ที่จะได้รับล่าช้าไปด้วย ดังนั้นกทท.จะต้องเร่งแก้ปัญหาการก่อสร้างโดยเร่งด่วน” แหล่งข่าวกล่าว
@รับเหมาอุทธรณ์ ประมูลสร้าง "อาคาร-ท่าเทียบเรือ-ถนน" 7.28 พันล้าน ยังไม่สรุป
ส่วนงานที่ 2 ก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ราคากลาง 7,289.4 ล้านบาท เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้าง โดยให้ยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 ปัจจุบันยังไม่สามารถประกาศผลการประมูลได้ เนื่องจากมีการอุทธรณ์
ส่วนงานที่เหลือ คือ 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 900 ล้านบาท และ 4. งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 2,200 ล้านบาท กทท.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) เพื่อเร่งเปิดประกวดราคาต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มีเป้าหมายเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F1 ภายในปี 2568 มีขีดรองรับสินค้าที่ 2 ล้านทีอียู ซึ่งจะทำให้ ทลฉ.มีขีดความสามารถรวมเป็น 13.1 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบัน 11.1 ล้านทีอียูต่อปี