xs
xsm
sm
md
lg

AWC คิดใหญ่ ผุด AEC ดันไทยฟูดโฮลเซลอาเซียนฮับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ตลาดอาหารในอาเซียนเติบโตสูง คาดว่าอีก 5 ปีจากนี้จะโตพุ่ง 30% AWC มองข้ามช็อต ผุด AEC ประตูน้ำ ผนึกพันธมิตรอาหารรายใหญ่ของไทย พร้อมอี้อูจากจีน หวังผลักดันให้ไทยสู่ศูนย์กลางฟูดซัปพลายเชนด้านค้าส่งของอาเซียน

อุตสาหกรรมอาหารในอาเซียนมีมูลค่ามากมายมหาศาล ซึ่งคาดว่าในปี 2566 นี้จะมีไม่ต่ำกว่า 25 ล้านล้านบาท มีการเติบโตโดยเฉลี่ย 6.9% ต่อปี และคาดว่าภายในอีก 5 ปีจากนี้จะมีการเติบโตโดยรวมไม่น่าต่ำกว่า 30%
 
ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศป็นผู้เล่นหลักสำคัญในตลาดการส่งออกอาหารและที่เกี่ยวกับอาหาร จะมีมูลค่าการตลาดในประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี แต่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่มากกว่าตลาดรวมของอาเซียนด้วยซ้ำ


เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบทั้งในด้านของทำเลที่ตั้ง ระบบสาธารณูปโภค และที่สำคัญยังเป็นครัวของโลกด้วย เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับอย่างหลากหลาย

โอกาสของตลาดอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังมีอีกมากเมื่อมองไปในอนาคตข้างหน้าในตลาดอาเซียนและขยับสู่ตลาดโลก มองแค่ในตลาดอาเซียนนั้น ด้วยประชากร 10 ประเทศที่มีรวมมากกว่า 687 ล้านคน หรือเกือบจะ 700 ล้านคนเข้าไปแล้ว อีกทั้งยังไม่นับรวมกับประชากรนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลกอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 143 ล้านคน

ที่สำคัญ ไทยเป็นประเทศเป้าหมายหลักในอาเซียนที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนมากที่สุดในระดับเกือบ 40 ล้านคนต่อปี ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และตามมาด้วยประเทศมาเลเซียที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากกว่า 26 ล้านคน
หากมองไปในมุมที่ใกล้เข้ามาอีกนิด คือ ประชากรที่มีการเชื่อมโยงกันกับประเทศไทยที่มีพื้นที่ติดกันนั้นก็มีมากถึง 277 ล้านคนเข้าไปแล้ว

แน่นอนว่า ความต้องการปัจจัยเรื่องอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญและมากมายด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยเราจะยังคงเป็นตัวหลักในเรื่องของความเป็นฟูดซัปพลายเชนที่ดีแล้ว แต่ก็เป็นการเติบโตที่กระจัดกระจายของผู้ประกอบการเอง ไทยเรายังไม่มีศูนย์รวมในการสร้างเป็นแหล่งค้าส่งที่เป็นจุดศูนย์กลางที่รวบรวมผู้ประกอบการทั้งหลายมารวมอยู่ในที่เดียวกันเพื่อสร้างศักยภาพในการดึงตลาดผู้ซื้อทั้งไทยและต่างประเทศในที่เดียวกัน

นี่จึงเป็นประเด็นหลักที่กลุ่ม AWC หรือบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี มองเห็นและต้องการเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดฮับทางด้านการค้าส่งหรือโฮลเซล (Wholesale) ทางด้านอาหารขึ้นมา


นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า AWC ได้เปิดตัวโครงการ “AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM (เออีซี ฟูด โฮลเซล ประตูน้ำ)” ภายใต้แนวคิด “INTEGRATED WHOLESALE PLATFORM FOR NON-STOP OPPORTUNITY” ด้วยแพลตฟอร์มการค้าส่งครบวงจร ด้วยการรวมพลังผู้นำธุรกิจอาหารทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาค” พร้อมเปิดมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการค้าส่งอาหารของภูมิภาค

จุดประสงค์หลักก็เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด พร้อมโซลูชันที่ครบครันผ่าน Eco-System ที่รวมพลังพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการนำผู้ค้าส่งอาหารทั่วโลกกับผู้ซื้อทั่ว AEC (ASEAN Economic Community) มาไว้ในที่เดียว ตอบโจทย์ทุกความหลากหลายของธุรกิจทั้งในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และราคา ร่วมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการค้าส่งของไทย ก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทาง “การค้าส่งอาหาร” ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคบนทำเลยุทธศาสตร์ใจกลางเมือง เชื่อมโยงผู้ค้าส่งทั่วโลกกับผู้ซื้อทั่ว AEC โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง


การร่วมมือกันครั้งนี้ ในเบื้องต้นมีพันธมิตรที่รวมพลังพันธมิตรประกอบด้วยภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และอี้อู (Yiwu) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับทาง AWC เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และหอการค้าจากประเทศต่างๆ เช่น สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย หอการค้าไทย-แคนาดา หอการค้าไทย-นิวซีแลนด์ หอการค้าสวิส-ไทย สมาคมหอการค้าไทย-สเปน

รวมถึงภาคเอกชนผู้นำธุรกิจอาหารชั้นนำของไทย เช่น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย AEC ของ AWC คืออาคารพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำเดิมนั่นเอง ที่ได้มีการปรับปรุงโฉมใหม่ของอาคารแบบพลิกโฉมเลยทีเดียวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว

บอสใหญ่ของ AWC ระบุว่า หากนับตั้งแต่การลงทุนอาคารนี้มาตั้งแต่แรกที่เป็นพันธุ์ทิพย์เดิมนั้นก็มีการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว และภายหลังที่มีการปรับโฉมใหญ่ก็ใช้งบประมาณอีกกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะที่ตัวอาคารและที่ดินผืนนี้มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทแล้ว


AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ตั้งอยู่ในทำเลเชิงยุทธศาสตร์ ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยพื้นที่กว่า 10 ไร่ โดยมีพื้นที่อาคารรวม (Gross Floor Area) กว่า 67,000 ตารางเมตร โดยศูนย์ค้าส่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ซื้อทั่ว AEC ให้สามารถเข้าถึงสินค้าจากผู้ประกอบการกลุ่มอาหารชั้นนำทั่วโลกกว่า 600 รายได้โดยตรง ด้วยราคาต้นทางและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือตรงกับความต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ ข้าว เครื่องดื่ม กาแฟและชา ขนมขบเคี้ยวและขนมหวาน และของใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถพบปะเจรจาธุรกิจกันผ่านออฟไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 365 วัน และออนไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมต่อผู้ซื้อผู้ขายข้ามทวีป

“โครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ได้มาพบกันแบบครบวงจรในที่เดียว ผู้ซื้อรายเล็กก็มีโอกาสพบผู้ขายรายใหญ่ ผู้ขายรายใหญ่ก็มีโอกาสขยายตลาดสู่ผู้ซื้อรายเล็ก ไม่ต้องไปเสียเวลาในการซอร์สซิ่งหาสินค้าเอง ซึ่งในกลุ่ม AWC เอง เฉพาะแค่ธุรกิจโรงแรมที่เรามีหลายเชนและมีจำนวนหลายแห่ง แต่ละปีก็ต้องมีการสั่งซื้อวัตถุดิบอาหารไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งก็เป็นการซื้อที่กระจัดกระจายไป แต่ถ้าเรามารวมกันซื้อในช่องทางโฮลเซลแห่งนี้ก็จะสร้างประโยชน์ และศักยภาพที่ดีกว่าเดิม”

อย่างไรก็ดี วัลลภาย้ำว่า โครงการนี้เป็นด่านแรกที่เราจะโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมอาหารก่อน ซึ่งในอนาคตก็ยังมีส่วนที่เตรียมไว้อีกที่ประตูน้ำพระอินทร์ที่เราพูดคุยกับพันธมิตรรวมทั้งอี้อูด้วยว่าจะมีการร่วมมือกันอย่างไรต่อไปได้บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นศูนย์กลางค้าส่งในรูปแบบอุตสาหกรรมอื่นก็ได้


AWC ตั้งเป้าให้ “AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM” ก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการค้าส่งอาหารของภูมิภาคที่ครบวงจร พร้อมร่วมสนับสนุนประเทศไทยสู่ประตูเชื่อมการค้าส่งทั่วทุกมุมโลก ผ่าน 3 องค์ประกอบหลัก
1. INTEGRATED BUSINESS PLATFORM: แพลตฟอร์มการค้าส่งแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงประสบการณ์การค้าส่งทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ (O2O Integrated) ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมค้าส่งให้ตอบทุกโจทย์ของผู้ขายและผู้ซื้อ โดยรวมผู้ผลิตจากทั่วโลกมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อบริการลูกค้าทั่วภูมิภาคให้สามารถสรรหาสินค้าคุณภาพหลากหลายได้ครบในที่เดียว พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าส่งที่ครอบคลุม เช่น คลังสินค้า พื้นที่ขนถ่ายสินค้า แพลตฟอร์ม Phenix Box สำหรับการทำธุรกรรมด้านสินค้าออนไลน์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจค้าส่ง ทั้งในแง่การบริการจัดการธุรกรรมที่ตรงกับธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่น Bulk Purchase, Group Purchase, Multi-Level Procurement และการจัดส่งที่ครอบคลุม พร้อมสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดและโปรแกรมลูกค้าสัมพันธ์ผ่านระบบ Loyalty Program รวมถึงพื้นที่ Food Lounge และ Taste Kitchen สำหรับจัดแสดงหรือสาธิตการปรุงอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่าย

2. FULL ASSORTMENT: ครบครันทุกความต้องการในที่เดียวด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ประกอบการทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่ส่งตรงจากผู้ผลิตจากทั้งในประเทศและแบรนด์ระดับโลก โดยมีไลน์สินค้าให้เลือกถึง 8 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักจากพันธมิตรชั้นนำ อีกทั้งมีศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ (Solution Service Center: SSC) ที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมถึงการบริการด้านภาษา การจัดแสดงและนำเสนอผลิตภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมการค้าส่งของไทย พร้อมสร้าง Eco-System ของธุรกิจค้าส่งอย่างต่อเนื่อง


3. NON-STOP OPPORTUNITY: เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) ตอบโจทย์อนาคตครบวงจรกับโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายแบบไร้ขีดจำกัด ผ่านการร่วมรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หอการค้าจากประเทศต่างๆ และภาคเอกชน รวมถึง อี้อู (Yiwu) ที่พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านกลยุทธ์การตลาดที่ครบครัน เช่น การจัดกิจกรรม Networking หรือกิจกรรมสัมมนา ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเจรจาธุรกิจกันได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง

ในช่วงแรกนี้เน้นไปที่อาหาร 8 กลุ่มหลัก เช่น อาหารแช่แข็ง, อาหารเย็น, ส่วนผสมอาหารตามฤดูกาล เครื่องดื่ม เป็นต้น และแยกย่อยออกมาอีกเป็น 80 กลุ่มย่อย รวมมากกว่า 3,000 รายการ

นอกจากนั้น ความร่วมมือกับทางอี้อูของจีนก็ยังขยายผลได้อีก ซึ่งอาจจะมีการนำเอาสินค้าอาหารของไทยไปเปิดตลาดจำหน่ายในจีนผ่านศูนย์ค้าส่งของอี้อูได้อีกทางหนึ่งด้วย

“โครงการ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM จะเป็นเสมือนประตูเชื่อมที่จะพาผู้ประกอบการค้าส่งให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดที่เชื่อมต่อโอกาสในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์อนาคตครบวงจร ผ่านเครือข่าย Eco-System ที่มี AWC และพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย พร้อมร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมค้าส่งของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาคอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นางวัลลภากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น