xs
xsm
sm
md
lg

“GULF-EGCO-BCPG-BANPU” ปักหมุดในสหรัฐฯ ติดเครื่องลุยโรงไฟฟ้าก๊าซฯ-พลังงานหมุนเวียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าไทยหลายรายเริ่มทยอยเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกากันอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ปักหลักลงทุนในไทย อาเซียน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นต้น

4 บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าไปปักหมุดลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติถึงสหรัฐฯ ประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCO) กลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) บริษัท บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) นอกจากเป็นการกระจายการลงทุนและขยาย Portfolio ไปสู่ตลาดพลังงานที่อเมริกา ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี ยังเป็นการเตรียมความพร้อมหากไทยเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าตลาดเสรีในอนาคต

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า GULF ยังคงแสวงหาโอกาสการร่วมลงทุน (JV) การควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการเสนอมาให้บริษัทพิจารณา ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind)

ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทฯ เพิ่งปิดดีลเข้าไปลงทุนถือหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ Jackson กำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ (MW) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่โรงไฟฟ้านี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็น J Power ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ที่สุดของโลกและยังเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมทุนใน Gulf JP ซึ่งการที่ GULF ตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการรุกเข้าสู่ตลาดพลังงานของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี นายสารัชถ์กล่าวว่ายังไม่มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม แต่บริษัทให้ความสนใจในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักทั้งในสหรัฐฯ และอียูที่ล่าสุดเพิ่งประกาศการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งที่อังกฤษจำนวน 1,500 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ Gulf Energy USA, LLC (Gulf USA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% และจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ได้ปิดดีลการซื้อหุ้น 49% ใน Jackson Generation,LLC คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 409.6 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ทำให้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้านี้ทันทีเนื่องจากเป็นโครงการที่ผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว โดยขายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายระหว่างเพนซิลเวเนีย-นิวเจอร์ซีย์-แมริแลนด์ (Pennsylvania-NewJersey-Maryland Interconnection :PJM) ภายใต้ตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐฯ ครอบคลุม 13 รัฐและเขตปกครองพิเศษโคลัมเบียด้วย

นายสารัชถ์กล่าวว่า ในปีนี้โครงสร้างรายได้หลักของGULF มาจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 40% รวมทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และบริษัท ไทยแท้งค์ เทอร์มินัลจํากัด (TTT) ด้วย

ปีนี้ GULF จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่ COD เพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 9,500 เมกะวัตต์ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 เมกะวัตต์ มาจากโครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ พีดี (GPD) หน่วยผลิตที่ 1 และ 2 กำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ในสหรัฐฯ กำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong Wind ที่เวียดนาม กำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่โอมานจะเปิดเพิ่มอีก 130 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปี 2566 GULF มีรายได้โตไม่ต่ำกว่า 50% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 95,076 ล้านบาท

นอกจากนี้ GULF ยังเป็นบริษัทที่ได้รับคัดเลือกในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ที่ กกพ.เพิ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ได้สูงที่สุดกว่า 2 พันเมกะวัตต์จากทั้งหมด 4,852.26 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต สอดรับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 9% เป็น 40% ใน 10 ปี

GULF ตั้งงบลงทุน5 ปีนี้ (ปี 2566-2570) อยู่ที่ 120,000 ล้านบาท ใช้ลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนประมาณ 70%, โรงไฟฟ้าก๊าซฯ และธุรกิจก๊าซฯ ประมาณ 25-26%, โครงสร้างพื้นฐานประมาณ 2% และธุรกิจดิจิทัล 2% โดยแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืมจากกระแสเงินสด การกู้ยืมรวมทั้งการออกหุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว 8.5 หมื่นล้านบาท


EGCO อัดงบลงทุนลุยโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ กว่า 1.6 หมื่นล้าน

ด้านบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงต้นปี 2564 โดยเข้าไปถือหุ้น 28% ในบริษัท ลินเดน ทอปโก้ แอลแอลซี (Linden Topco LLC) ที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้า "ลินเดน โคเจน" ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 972 เมกะวัตต์ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดพลังงานขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 1 พันกิกะวัตต์ รวมทั้งมีศักยภาพในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนด้วย

โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจนได้ขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าแก่ระบบและโครงข่ายไฟฟ้าในรัฐนิวยอร์ก (NY-ISO Zone J) และตลาดซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม พีเอส นอร์ท (PJM PS North) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งโรงไฟฟ้าลินเดน หน่วยที่ 6 ได้รับก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเบย์เวย์จากบริษัท ฟิลิปส์ 66 (Phillips 66) ที่มีองค์ประกอบเป็นไฮโดรเจนมาผสมเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10%

นอกจากนี้ EGCO ยังได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่สหรัฐฯ ด้วย โดยถือหุ้นทางอ้อม 17.46% ในบริษัทเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง แอลแอลซี (เอเพ็กซ์) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วขายโครงการที่พัฒนาเหล่านั้นให้แก่นักลงทุนอื่นต่อไป โดยเอเพ็กซ์มีการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนมากว่า 30,000 เมกะวัตต์

และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เอ็กโก ไรเซ็ก ทู แอลแอลซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ EGCO ถือหุ้นทั้งหมด ได้ปิดดีลสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Cogentrix RISEC CPOCP Holdings, LLC และ Cogentrix RISEC CPP II Holdings, LLC เพื่อเข้าถือหุ้น 49% ใน Cogentrix RISEC Holdings, LLC เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566

Cogentrix RISEC Holdings, LLC ถือหุ้นใน Rhode Island State Energy Center, LP (RISEC) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาดกำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ ที่รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา โดยจำหน่ายไฟฟ้าเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า blackstart ให้กับตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) รวมทั้งได้เตรียมการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System - BESS) และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า กล่าวว่า บริษัทใช้เงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งในสหรัฐฯ เบื้องต้นใช้เงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาทในปี 2564-2570 โดยใช้เงินลงทุนราว 65 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2,200 ล้านบาทในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ “ไรเซ็ก” ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน “เอเพ็กซ์” คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 13,700 ล้านบาทในช่วง 7 ปีนับตั้งแต่บริษัทเข้าไปถือหุ้นทางอ้อมในโครงการตั้งแต่ปี 2564 ต่อเนื่องไปถึงปี 2570

ส่วนเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เนื่องจากติดเงื่อนไข Confidential Agreement อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงแสวงหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียนซึ่งการลงทุนในบริษัทเอเพ็กซ์ที่พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแล้วขายให้กับนักลงทุนที่สนใจหรือเก็บบางโรงไฟฟ้าเพื่อขายไฟเข้าตลาดเสรี ก็เป็นรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งเดิมบริษัทสนใจถือหุ้นในเอเพ็กซ์เพิ่มเติม แต่ยังไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดเสนอขายออกมา


BCPG โชว์ต้นปี 66 ลงทุนโรงไฟฟ้า 4 แห่งในสหรัฐฯ

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG)  น้องใหม่ที่โดดชิมลางเข้ามาลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ รวดเดียว 4 แห่งภายในต้นปีนี้ ใช้เงินลงทุนรวม 375 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 12,891 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 577 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้บริษัทฯสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันทีภายหลังจากการเข้าลงทุน

โดยบริษัทย่อย "BCPG USA Inc." ได้เข้าซื้อขายหุ้นกับ AP Carroll County Holdings LLC (APCCH) และ AP South Field Holdings LLC (APSFH) วงเงินไม่เกิน 115 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,972.22 ล้านบาท ถือหุ้นทางอ้อมสัดส่วน 17.76% ในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Carroll County Energy LLC (CCE) ที่มีกำลังการผลิต700 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เขตแครอล รัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ และถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 15.55% ในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ South Field Energy LLC (SFE) กำลังการผลิตติดตั้ง 1,182 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่เขตโคลัมเบียนา รัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ รวมทั้ง 2 โครงการ BCPG มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 150.98 เมกะวัตต์

เมื่อเร็วๆ นี้ BCPG USA Inc. ได้ประกาศทำสัญญาซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ ใช้เงินลงทุนครั้งนี้ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,919 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อม 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติฮามิลตันลิเบอร์ตี้ (ลิเบอร์ตี้) กำลังการผลิตติดตั้ง 848 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 212 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติฮามิลตัน แพทริออต (แพทริออต) กำลังการผลิตติดตั้ง 857 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 214 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จำหน่ายเข้าสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีพีเจเอ็ม (PJM) ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐฯ โดยที่ตั้งของ 2 โรงไฟฟ้านี้อยู่ใกล้แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ (Marcellus Shale Gas) ทำให้เข้าถึงก๊าซธรรมชาติได้ในราคาต่ำกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ


จับตา! กลุ่มบ้านปูจ่อลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ เพิ่ม

ขณะที่บ้านปู (BANPU) เป็นบริษัทไทยที่เข้าไปบุกเบิกลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐอเมริกาใน 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐฯ และแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) รัฐเทกซัส โดยมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของอยู่ที่ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วยกำลังผลิตประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากนั้นได้ต่อยอดสู่ธุรกิจไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยบ้านปูจับมือบริษัทลูก คือ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ตั้งบริษัทร่วมทุนเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท Temple Generation Intermediate Holdings II, LLC ซึ่งถือหุ้น 100% ในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ขนาดกำลังผลิต 768 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการลงทุนรวม 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 14,147 ล้านบาทเมื่อปี 2564

โดยโรงไฟฟ้า Temple I จำหน่ายไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรีของ Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT นับการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินตามแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างรากฐานการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter

อย่างไรก็ดี กลุ่มบ้านปูยังคงมองหาโอกาสการขยายธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566


กำลังโหลดความคิดเห็น