ทล.อัพเดท มอเตอร์เวย์"บางใหญ่-กาญจนบุรี"คืบ 90.21 % โยธาเสร็จแล้ว 14 ตอน ลุย O&M เต็มสูบตั้งเป้า ก.ย.67 เปิดทดลองวิ่งฟรี 3 เดือน เร่ง PPP จุดพักรถ Market Sounding พ.ค. 66 เปิดประมูล ไตรมาส 3/66
นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ว่า การก่อสร้างงานโยธาซึ่งแบ่งออกเป็น 25 ตอนนั้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 14 ตอน ได้แก่สัญญาที่ 5 สัญญาที่ 6 สัญญาที่ 8 สัญญาที่ 10 สัญญาที่ 14 สัญญาที่ 15 สัญญาที่ 17 สัญญาที่ 18 สัญญาที่ 20 สัญญาที่ 21 สัญญาที่ 22 สัญญาที่ 23 สัญญาที่ 25
โดยล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2566 มีสัญญาที่แล้วเสร็จและตรวจรับงานเพิ่ม คือ สัญญาที่ 7 พื้นที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ช่วงกิโลเมตร 22+500 ถึง กิโลเมตร 24+875 รวมทางแยกต่างระดับนครชัยศรี โดยสัญญานี้มีระยะทาง 2.375 กิโลเมตร
ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 11 ตอน โดย สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีความก้าวหน้า โดยรวมประมาณ 90.21 % ล่าช้ากว่าแผน 5.6% (แผนงาน 95.823%) โดยในเดือนก.ค.2566 งานตอนที่ 13 และตอนที่ 19 จะแล้วเสร็จ โดยงานโยธาที่เหลือทั้งหมด จะแล้วเสร็จในเดือนม.ค.2567
สำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) ซึ่ง ทล.ได้มีการลงนามสัญญาจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 โดย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง พร้อมติดตั้งงานระบบ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงิน 5,075 ล้านบาท กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย งานก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow งานระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ งานระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง และระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง งานอาคารศูนย์ควบคุม และอาคารสำนักงานต่างๆ โดยเดือนมีนาคม 2566 มีความก้าวหน้ารวม 13.62 % ล่าช้า 3.74% (แผนงาน 17.3%)
ระยะที่ 2 งานดำเนินงานบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมด เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่เปิดให้ประชาชน วงเงินวงเงิน 17,809 ล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการเป็นเวลา 30 ปี โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบ และค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา
ทั้งนี้คาดว่าหลังงานโยธาแล้วเสร็จ จะสามารถเปิดให้ทดลองใช้บริการฟรีในเดือนก.ย. 2567 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ในเดือนม.ค.2568 โดยอัตราค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อ มีค่าแรกเข้า 10 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 1.50 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุด 150 บาท, รถยนต์ 6 ล้อ มีค่าแรกเข้า 16 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2.40 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุด 240 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ มีค่าแรกเข้า 23 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 3.45 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุด 350 บาท ประมาณการณ์ปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการที่ 4 หมื่นคัน/วัน
โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มี ขนาด 4 ถึง 6 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 96 กม.มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอนนอก กรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ด้านตะวันตก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จุดสิ้นสุดอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี – อ.พนมทวน) ผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี โดยในแนวเส้นทางมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 8 แห่ง ได้แก่ ด่านบางใหญ่ ด่านนครชัยศรี ด่านศรีษะทอง ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก ด่านท่ามะกา ด่านท่าม่วง และด่านกาญจนบุรี
@พ.ค.66 รับฟังเสียงนักลงทุน (Market Sounding) ก่อนเปิด PPP ที่พักริมทาง Q3 /66
ทั้งนี้โครงการ มอเตอร์เวย์ บางใหญ่ -กาญจนบุรี มีที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ทาง จำนวน 3 แห่ง แบ่งออกเป็น สถานบริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง ที่ อ.นครชัยศรี (กม.19+500) และ อ.เมืองนครปฐม (กม.47+500) และสถานที่พักริมทาง (Rest Stop) จำนวน 1 แห่ง ที่ อ.ท่ามะกา (กม.70+900)
โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พรบ.ร่วมลงทุนฯ , PPP) โดยคาดว่าจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในเดือนพ.ค. 2566 และจะประกาศขาย
เอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request For Proposal : RFP) ในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี และบริหารจัดการ 30 ปี
โดยมีกรอบการลงทุนระบบ O&M ทีรัฐต้องจ่ายคืนเอกชนประมาณ 17,000 ตลอดอายุสัมปทาน หรือเฉลี่ย 600 ล้านบาท/ปี โดยคาดการณ์ ว่า จะมีรายได้จากค่าผ่านทางประมาณ 1,600 ล้านบาท/ปี ในปีแรกที่เปิดให้บริการ(ปี 2568)