ขบ.เซ็นสัญญาร่วมทุนฯ”เอสเอซีแอล”พัฒนา”ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม”ดึงเอกชนก่อสร้างและบริหาร 30 ปี คาดเปิดให้บริการ ต้นปี 2568 อำนวยความสะดวก ขนส่งและโลจิสติกส์ รองรับสินค้าทางถนน และนำเข้า-ส่งออก ระหว่างไทย – ลาว – เวียดนาม – จีนตอนใต้จีน บนถนน R12
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม กับ บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด วันที่ 5 เม.ย. 2566 ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด เป็นนิติบุคคลใหม่ที่ “บริษัท สินธนโชติ จำกัด” ผู้ผ่านการประเมินสูงสุดของโครงการ จัดตั้งขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เพื่อเข้าเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนกับกรมการขนส่งทางบกและเพื่อดำเนินงานโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เป็นการเฉพาะ
โดยโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เป็นการร่วมลงทุน (PPP) โครงการแรกที่ กรมการขนส่งทางบกเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เป็นมืออาชีพมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ซึ่งจะช่วยลดภาระทางด้านงบประมาณในการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน
โดยเอกชนคู่สัญญา จะรับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า อาคารคลังสินค้าและอาคารซ่อมบำรุง รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ อาทิ Gantry Crane และรถ Forklift มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 317 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ภายหลังกรมการขนส่งทางบกปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการก่อสร้าง
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance : O&M) ในส่วนอาคารและพื้นที่ใช้สอยในการรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางตามรอบระยะเวลา รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost และจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ เป็นเงินรวมกว่า 298 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ โดยมีแผนเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2568
ซึ่งภายหลังงานก่อสร้างทั้งในส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนรับผิดชอบแล้วเสร็จ โดยกรมการขนส่งทางบกจะได้มีการกำกับดูแลการดำเนินงานของภาคเอกชนให้เป็นตามระดับการให้บริการ (Level of Service) ที่กำหนดไว้ต่อไป
โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย – สปป.ลาว – เวียดนาม – จีนตอนใต้ ผ่านด่านพรมแดนนครพนม และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งจัดเป็นเส้นทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความสำคัญและมีมูลค่าการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนารถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในอนาคต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง ผลักดันจังหวัดนครพนมให้เป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
และเมื่อรวมกับสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ภูมิภาคแห่งอื่น ๆ ที่กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 หรือสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการนำเสนอขออนุมัติโครงการ จะช่วยสร้างโครงข่ายการขนส่งสินค้าแบบ Hub-and-Spoke ลดปริมาณการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มคันและรถเที่ยวเปล่า และยังสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่ง และในภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
นายบวรสินธุ์ ตันธุวนิตย์ กรรมการบริษัท เอสเอซีแอล จำกัด กล่าวว่า บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นว่า เส้นทางการขนส่งสินค้าบนถนนสาย R12 ผ่านด่านพรมแดนนครพนม ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพสูง โดยบริษัทฯ จะได้นำประสบการณ์ในภาคธุรกิจการขนส่ง โดยเฉพาะการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งได้มีการวางแผนและปรับกลยุทธ์การให้บริการต่าง ๆ ให้สอดรับสถานการณ์การขนส่งในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการและประเทศไทย ขณะเดียวกันโครงการนี้จะสามารถสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ได้ ด้วยการจ้างงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง