ผู้จัดการรายวัน 360 - เบทาโกร หรือ “BTG” ประกาศแผนกลยุทธ์ก้าวสู่แบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำระดับสากล เพิ่มกำลังการผลิตรับดีมานด์ในประเทศ ขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ ขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและช่องทางจำหน่าย ดันพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์พรีเมียมโต เผยสถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิตและไก่เนื้อเริ่มปรับขึ้น วางเป้าหมายยอดขายโต 5-10%
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า ภาพรวมการบริโภคอาหารปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและมีดีมานด์เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและทำให้อัตราการบริโภคขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ แม้ในระยะสั้นสถานการณ์ราคาสุกรมีชีวิตจะมีความผันผวนได้บ้างเนื่องจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงต้นปีนี้มีการลักลอบนำเข้าสุกรตัดแต่ง และมีการเพิ่มน้ำหนักของสุกรขุน ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาสุกรในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทิศทางราคาสุกรเริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะกลับมามีเสถียรภาพหากมีการบริหารซัปพลายที่ดี ขณะที่แนวโน้มราคาและการส่งออกไก่เนื้อ คาดการณ์ว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่ชะลอตัว
จากปัจจัยดังกล่าว เบทาโกรจึงวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่แบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำระดับสากล เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1) มุ่งขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรากฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีความแข็งแกร่ง รองรับกับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะลงทุนขยายกำลังผลิตในโรงงานแห่งใหม่ และการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรองรับกับโอกาสการขายที่เพิ่มมากขึ้น
2) สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และช่องทางจำหน่าย การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีนที่มีมูลค่าเพิ่ม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ไก่และสุกร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างการเติบโตในปีนี้ มุ่งขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน โดยวางเป้าหมายกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจะมีสัดส่วนรายได้เกือบ 10% ในปี 2568 จากปี 2565 อยู่ที่ 5% และขยายช่องทางจัดจำหน่ายที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สู่ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางผู้ให้บริการด้านอาหาร ช่องทางจัดจำหน่ายของเบทาโกรชอป และร้านเบทาโกรเดลี
3) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม เบทาโกรนำความแข็งแกร่งของศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development Center-RDC) และศูนย์นวัตกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มธุรกิจมุ่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน โดยศูนย์นวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Center - FIC) ซึ่งมีแบรนด์ S-Pure เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ซูเปอร์พรีเมียม เป็นแบรนด์แรกและหนึ่งเดียวที่ได้รับการรับรองการเลี้ยงแบบไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics - RWA) จาก NSF รวม 3 ผลิตภัณฑ์ทั้งหมู ไก่ ไข่ มุ่งขยายฐานผู้บริโภคในระดับพรีเมียม
2. กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง โดยศูนย์นวัตกรรมสัตว์เลี้ยง (Pet Innovation Center-PIC) ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมียมตอบโจทย์ Health & Wellness
3. กลุ่มธุรกิจเกษตร โดยศูนย์นวัตกรรมการเกษตร (Agro Innovation Center - AIC) ที่จะพัฒนาอาหารสุกร อาหารโค และอาหารไก่ไข่ที่เป็นเกรดพรีเมียมรับกับความต้องการในผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่เพิ่มขึ้น
4) การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ ในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศวางแผนลงทุนในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยสร้างโรงงานแห่งใหม่ และปรับปรุงโรงงานเดิมให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สนใจการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการประเทศเวียดนาม การขยายตลาดส่งออกใหม่ในประเทศอื่นๆ จากปีที่ผ่านมามีมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยสนใจขยายการส่งออกสู่ตลาดยุโรป ขยายผลิตภัณฑ์ใหม่และช่องทางจัดจำหน่ายที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ปรุงสุก เช่น ไก่ปรุงสุก บุกตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรป รวมทั้งมุ่งสร้างแบรนด์ "S-Pure" และ "BETAGRO"
“จากการวางกลยุทธ์แห่งปี 2566 เพื่อขยายธุรกิจ รวมทั้งความสามารถในการควบคุมต้นทุนราคาวัตถุดิบด้วยระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และการมุ่งเน้นสินค้าในกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีนที่ได้อัตรากำไรที่ดีกว่า เพื่อลดผลกระทบของความผันผวนของราคาเนื้อสัตว์ จะผลักดันให้ยอดขายปี 2566 เติบโต 5-10% ตามเป้าหมาย และตอกย้ำเป้าหมายสู่การเป็นแบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำระดับสากลเพื่อชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป” นายวสิษฐกล่าว