เริ่มวันนี้ "บัตรเหมาจ่าย" นั่งสายสีแดง-รถเมล์ ขสมก.ราคา 2,000 บาท ใช้ได้ 30 วัน ชี้ประหยัดถึง 270 บาท รฟฟท.ตั้งเป้า ใช้บัตรเติมเงินเพิ่มเป็นหมื่นคน/วัน ด้านกรมรางรับลูกนโยบายพรรคการเมืองรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือวันละ 40 บาท เป็นไปได้
วันที่ 29 มีนาคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมเปิดตัวการให้บริการ "บัตรเหมาจ่าย" หรือ TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA เพื่อชำระค่าโดยสาร ในการเดินทางร่วม รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถเมล์ ขสมก.ในราคาเหมา 2,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาโปรโมชัน 6 เดือน โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. และผู้บริหาร ขสมก.และ บมจ.กรุงไทย ร่วม ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า รฟท.เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมเชิงรุก ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางกับระบบขนส่งมวลชนต่างๆ และการนำเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาปรับเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ ซึ่งเทคโนโลยี EMV Contactless หรือ Europay Mastercard and Visa เป็นทางเลือกในการชำระค่าโดยสารที่เป็นมาตรฐานสากล การพัฒนาบัตรเหมาจ่าย ซึ่งสามารถใช้เดินทางร่วมรถไฟสายสีแดงกับรถ ขสมก.เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมที่สมบูรณ์ ในอนาคตจะพัฒนาเชื่อมการเดินทางทุกระบบ และยังสามารถซื้อสินค้า ชำระค่าบริการต่างๆ ได้ด้วย
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้ามีการใช้ระบบตั๋วร่วมแล้ว ในรูปแบบบัตร EMV Contactless ทั้งสีน้ำเงิน สีม่วง สีแดง และรถเมล์ ขสมก. ส่วนบัตรเหมาจ่าย ที่เปิดตัววันนี้เป็นการใช้งานร่วมสายสีแดงกับรถเมล์ในราคา 2,000 บาท เป็นอีกเทคนิคที่ทำให้เห็นว่าเป็นไปได้ และมีเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมทางการเงิน ที่สามารถพัฒนาไปสู่ระบบตั๋วร่วมค่าโดยสารร่วม ส่วนการจะขยายเพิ่มขึ้นกับความต้องการของประชาชนด้วย
“ขณะนี้ช่วงใกล้เลือกตั้ง มีหลายพรรคการเมืองมีนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายบ้าง หรือ ราคาเหมา 40 บาททั้งวันบ้าง ซึ่งเดิมอาจจะทำได้ยาก เพราะจะต้องแก้สัมปทานบ้าง แต่วันนี้มีเครื่องมือและความพร้อมสามารถทำได้แล้ว หากรัฐบาลใหม่มีนโยบายชัดเจน มีงบประมาณต้องการอุดหนุนราคาเป็นเท่าไร พร้อมดำเนินการได้ตามนโยบาย”
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รฟฟท. กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายผลักดันระบบตั๋วร่วม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และให้เกิดความสะดวกในการใช้บัตรใบเดียว ภายใต้ระบบ EMV โดย "บัตรเหมาจ่าย" สามารถใช้เดินทางร่วมรถไฟสายสีแดงสูงสุดจำนวน 50 เที่ยว และใช้บริการรถเมล์ ขสมก.ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศไม่จำกัดเที่ยว ภายในระยะเวลา 30 วันเช่นกัน โดยนับจากวันที่ผู้โดยสารใช้บัตรครั้งแรกที่รถไฟฟ้าสายสีแดง หรือรถเมล์ ขสมก.อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครบ 50 เที่ยวแล้วจะไม่สามารถใช้ได้อีก แต่สามารถใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก.ได้จนกว่าจะครบ 30 วัน ซึ่งจะจำหน่ายบัตรเหมาจ่ายราคา 2,000 บาท และมีค่าธรรมเนียมออกบัตรของธนาคารกรุงไทยอีก 100 บาท ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้ติดตั้งระบบให้ทุกสถานีสายสีแดง เฉลี่ย 2 ช่อง
สำหรับราคาบัตรโดยสารรถไฟสีแดงแบบเติมเงิน 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาท/เที่ยว (60 สต./กม. ขณะที่ตั๋วเที่ยวอยู่ที่ 1.50 บาท/กม.) ประหยัดในระดับหนึ่ง กรณีซื้อบัตรเหมาจ่ายจะเหลือ 1,100 บาท ประหยัด 150 บาท ใช้ได้ 50 เที่ยวเหมือนเดิม เฉลี่ยเหลือ 22 บาท/เที่ยว (50 สต./กม.)
ปัจจุบันรถไฟสายสีแดงมีผู้โดยสารเฉลี่ย 25,000 คน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 6,000 คน/วัน ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ โดยมีผู้ใช้บัตรเติมเงินประมาณ 5,000 คน/วัน คาดว่าบัตรเหมาจ่ายจะจูงใจให้ผู้โดยสารหันมาใช้เพิ่มขึ้น 30-40% โดยจะประเมินผลและการใช้งานของระบบประมาณ 6 เดือน หากผู้โดยสารตอบรับดีจะพิจารณาเพื่อขยายบัตรเหมาจ่าย เพื่อใช้ร่วมกับระบบขนส่งอื่นของกระทรวงคมนาคมต่อไป
นางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก.กล่าวว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีบัตรรายเดือน ในราคา 1,020 บาท แต่บัตรเหมาจ่าย (สายสีแดงกับ ขสมก.ราคา 2,000 บาท) โดยเป็นส่วนของขสมก. 900 บาท ผู้โดยสารประหยัด 120 บาท สามารถใช้รถเมล์ ขสมก.ได้ไม่จำกัดเที่ยวภายใน 30 วัน ปัจจุบัน ขสมก.มีผู้โดยสารประมาณ 700,000 คน/วัน มีผู้ชำระค่าโดยสารผ่านระบบ EDC ประมาณ 50,000 คน หรือประมาณ 12% คาดหวังว่าจะมีผู้ใช้บัตรมากขึ้นเป็น 15% ในช่วงแรก โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงความสะดวกและราคาที่ประหยัดกว่าเดิม
ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA ครั้งแรกได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเขตการเดินรถตามที่ ขสมก.กำหนด สามารถเติมเงินเข้าบัตรได้หลายช่องทาง เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT การเติมเงินผ่านการสแกน QR Code หลังบัตร รวมทั้งการเติมเงินผ่านช่องทางอื่นทาง MOBILE BANKING ของทุกธนาคาร และชำระเงินสดผ่านเครื่อง EDC ณ จุดจำหน่ายบัตร